7 อาการต้องสงสัย ลูกป่วยRSV ดูแลอย่างไรไม่ให้เป็น
เปิดเทอมทีไร หลายบ้านต้องกลุ้มใจเพราะลูกป่วยกลับมาตลอด โรคหนึ่งที่มักพบในเด็ก ๆ ช่วงเปิดเทอมก็คือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจค่ะ เพราะติดต่อกันง่ายผ่านสารคัดหลั่งผ่านตาตา จมูก ปาก โรคหนึ่งที่ลูกมักเป็น คือ ติดเชื้อไวรัส RSV เชื้อนี้อันตรายขนาดไหน อาการเมื่อ ลูกป่วยRSV เป็นอย่างไร และพ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างไร ไม่ให้ป่วย บทความนี้มีคำตอบค่ะ
RSV คือ
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดพยาธิสภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก และถุงลม ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
กลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก
ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะติดต่อกันได้ง่าย แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมักจะเจอในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
ส่วนมากตัวเชื้อไวรัสนี้จะลงไปที่หลอดลมฝอย หรือลงไปที่ตัวเนื้อปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ หรือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ
สิ่งที่อันตรายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง ถ้าเจอเชื้อไวรัสนี้ในเด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจจะทำเกิดอาการหยุดหายใจได้ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายมากในเด็กเล็ก
7 อาการต้องสงสัย ลูกป่วยRSV
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV บางอย่างอาจคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ (ส่วนใหญ่ไข้ไม่สูงนัก) ไอ จาม แต่ก็มีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV เช่น
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว หายใจแรง
- หายใจครืดคราด
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- ไอโขลกๆ
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่เป็น RSV
- หากลูกต้องออกนอกบ้าน ไปโรงเรียน ควรฝึกให้ลูกใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย นอกจากจะป้องกันเชื้อไวรัส RSV ได้แล้ว ยังสามารถป้องกัน COVID19 ฝุ่น pm 2.5 และโรดติดเชื้อต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี ที่ห้ามสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจทำให้ขาดอาการหายใจได้ หากต้องไปพบคุณหมอ หรือไปนอกบ้านควรมีผ้าคลุม เพื่อป้องกันละอองฝอยของเชื้อโรค
- ระมัดระวังเรื่องความสะอาด และป้องกันการติดเชื้อ ก่อนจะให้ใครจับตัวเด็ก ควรให้ล้างมือ ฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ไปทำงานนอกจาก อาจจะเป็นพาหะที่นำเชื้อจากนอกบ้านมาติดเด็กได้ เพราะฉะนั้นเมื่อออกไปนอกบ้านก่อนจับตัวหรือเล่นกับลูกหลาน ควรอาบน้ำให้สะอาด
- หลีกเลี่ยงอย่าให้ลูกคลุกคลี กับคนที่มีอาการหวัด ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ควรอยู่ห่างประมาณ 90 ซม.
- ทำความสะอาดของเล่น หรือคอกเล่น หรือที่นอนของลูกบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงไม่พาลูกไปสถานที่แออัด เน้นพาไปสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงให้เด็กจับสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ หากจับต้องรีบล้างมือ
- หลีกเลี่ยงสถานทีที่เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เนอสเซอรี่ แหล่งที่มีเด็กอยู่รวมกันหลาย ๆ คน เช่น บ้านบอล หรือสนามเด็กเล็น ถ้าช่วงเป็นช่วงที่โรคนี้ระบาด ก็ควรหลีกเลี่ยง
- ฝึกให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่
- ให้ลูกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ถ้าลูกป่วยควรให้หยุดเรียน
- สังเกตอาการ หากลูกมีไข้สูง หายใจลำบาก มีน้ำมูก หรือเสมหะมากผิดปกติ ควรรีบพาไปหาคุณหมอทันที
การรักษาเมื่อลูกเป็น RSV
ปัจจุบันยังไม่มียา หรือวัคซีนที่จะรักษา RSV ที่โดยตรง คุณหมอจะรักษาตามอาการ เช่น
- ให้ยาลดไข้ แก้ไข ละลายเสมหะ
- บางรายที่เสมหะเหนียวมาก อาจต้องพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย
- เคาะปอด และดูดเสมหะออก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการไอ และอาการหายใจหอบเหนื่อย
- แนะนำให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เสมหะเหนียวและเชื้อไวรัสจะได้ไม่ลงปอด
การติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ จึงจะฟื้นไข้ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังให้ดีนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์,โรงพยาบาลวิชัยเวช หนองแขม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก