โรค RSV เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ รู้หรือไม่ว่านอกจากลูกจะมีอาการหนักจากตัวโรคแล้ว เจ้าไวรัส RSV ยังเปิดประตูให้เชื้อโรคตัวอื่น ๆ มาทำร้ายลูกเราซ้ำได้อีก!!
ระวัง! โรค RSV รักษาไม่ถูกวิธี อาจติดเชื้อซ้ำซ้อน
รู้จักไวรัส RSV
โรค RSV คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก
RSV ติดต่อกันได้อย่างไร?
การติดต่อระหว่างคนสู่คนของเชื้อไวรัสชนิดนี้ก็เหมือนกับเชื้อไวรัสหวัดทั่วไป คือ ติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย จึงทำให้มีการติดต่อกันได้ง่ายกว่า โดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก็สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรงแต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมาก ๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้
RSV พ่วงติดเชื้อแบคทีเรียลงปอด ฝันร้ายที่พ่อแม่ไม่อยากเจอ
ทีมแม่ ABK ขอนำคำเตือนจากประสบการณ์จริง ของคุณหมอ นพ.จิรรุจน์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ที่ได้ออกมาเตือนว่า
เรื่องหนึ่งที่เรามักจะเจอ ที่ทำให้การรักษาเด็กที่ติดเชื้อ rsv ทำได้ยากขึ้น และอาจมีอาการทรุดลงจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิต นั่นก็คือ ปอดบวมหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเป็นเชื้อที่พบได้ ในท้องถิ่นของเราอยู่แล้ว นั่นคือ” เชื้อไอพีดี” ( IPD-Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งพบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV!!!ซึ่งเจ้าเชื้อแบคทีเรียนี้ ก็มักจะมาพร้อมกันกับตอนที่เราได้รับเชื้อ RSV นี่แหละครับ ผู้ที่มีการติดเชื้อปอดบวม ต่อเนื่องจากการติดเชื้อ RSV นั้น ก็จะมีอาการ ไข้สูงอย่างต่อเนื่อง หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาการไม่ดีขึ้นแม้เวลาจะผ่านไป บางรายมีการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตโชคดีนะครับ เรายังพอมีวัคซีนป้องกัน เชื้อไอพีดี ให้ได้ฉีดกัน ซึ่งสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนเป็นต้นไป อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้เห็นไหมครับ อาการติดเชื้อ RSV บางครั้งมันไม่ได้จบแค่การติดเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว (ซึ่งนั่นก็หนักพออยู่แล้ว) ดังนั้น นอกจาก การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่พาไปเล่นในที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ จะเป็นวิธีป้องกันที่ดีแล้ว การรับวัคซีนป้องกัน เชื้อไอพีดี ก็ยังช่วยบรรเทาเบาบาง เรื่องของการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนลง หากเกิดการติดเชื้อไวรัส เพราะถึงอย่างไรตอนนี้ ก็ยัง #ไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อRSV นะครับด้วยความปรารถนาดี#หมอจิรรุจน์ เข้าใจโรคเข้าใจลูกกุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ
รู้จัก RSV ให้ดี กับแพทย์หญิง พัชรินทร์ มีศักดิ์
ป้องกัน RSV อย่างไร?
หลักในการป้องกัน RSV นั้นก็เหมือนกันป้องกันไวรัสชนิดอื่น ๆ คือ การพยายามให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม ก็สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน
จับสังเกต RSV มีอาการต่างจากหวัดอย่างไร?
อาการติดเชื้อไวรัส RSV นั้น มักจะไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาในผู้ใหญ่หรือเด็กโต โดย RSV ใช้เวลาในการฟักตัว 3-6 วัน หลังจากรับเชื้อ เมื่อเริ่มมีอาการจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา คือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ดังนั้นจะแยกได้ค่อนข้างยาก แต่ก็มีจุดให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ว่าลูกอาจจะเป็น RSV ดังนี้
- มีเสมหะจำนวนมาก
- มีไข้สูง
- หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่โรค RSV กำลังระบาด
วิธีรักษา
เบื้องต้นไวรัส RSV ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษาประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.จิรรุจน์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต, อ. พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่