โรค RSV คืออะไร? อยากรู้ว่าลูกป่วยเป็นหวัดธรรมดาหรือ RSV กันแน่ ต้องตรวจหาเชื้อโดยแพทย์เท่านั้น ตรวจอย่างไร? ราคาเท่าไหร่? อ่านได้ที่นี่
RSV คืออะไร? ตรวจหา RSV ทำอย่างไร? ราคาเท่าไหร่?
คุณพ่อคุณแม่ทราบกันอยู่แล้วถึงความร้ายแรงของโรค RSV ว่าเป็นโรคที่อันตรายสำหรับเด็กเล็ก ก่อให้เกิดอาการรุนแรง เชื้อไวรัสลงปอดไว อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ IPD ติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่อันตรายต่อลูกน้อยถึงชีวิตได้ทั้งสิ้น มาทำความรู้จักกับโรค RSV กันแบบคร่าว ๆ ก่อนดีกว่าค่ะ
RSV คืออะไร? มีอาการอย่างไร? ร้ายแรงแค่ไหน?
RSV คืออะไร? RSV คือไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม ชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี
โดยอาการในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรงดีอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก (ต่ำกว่า 2 ป๊) ที่ติดเชื้อครั้งแรกพบร้อยละ 20-30 ที่มีอาการโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบตามมาได้ โดยมักแสดงอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค RSV ได้ที่นี่
RSV คือ อะไร? เตรียมรับมือกับไวรัสอันตรายในหน้าฝน
ระวัง! โรค RSV รักษาไม่ถูกวิธี อาจติดเชื้อซ้ำซ้อน
สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรค RSV ต้องทำอย่างไร?
ก่อนอื่น เมื่อลูกมีน้ำมูก ไอ ให้คอยสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากลูก มีเสมหะจำนวนมาก มีไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ หรืออยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่โรค RSV กำลังระบาด หากลูกมีอาการที่กล่าวไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกวิธีต่อไป
วิธีตรวจหาเชื้อไวรัส RSV
การตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก (Nasal Swab) โดยจะมีอุปกรณ์คล้าย ๆ สำลีก้านเช็ดหู (แต่ยาวกว่ามาก) แพทย์จะทำการแหย่เข้าไปในจมูกของลูก (ค่อนข้างลึก ในขั้นตอนนี้ลูกอาจจะร้องไห้ได้ คุณแม่ควรให้พยาบาลหรือจับลูกไว้ให้แน่น ใช้เวลาป้ายสารคัดหลั่งเพียงไม่กี่วินาทีก็เสร็จค่ะ) เมื่อได้สารคัดหลั่ง (น้ำมูก) แล้วแพทย์ก็จะนำไปทำการตรวจแบบด่วน (RSV rapid test) ซึ่งจะใช้เวลาในการหาเชื้อประมาณ 15-30 นาที ก็จะทราบผล ในปัจจุบันมักจะสั่งตรวจควบคู่ไปกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
ตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ราคาเท่าไหร่?
เนื่องจากการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น การตรวจจึงต้องทำในโรงพยาบาลหรือคลีนิค คุณพ่อคุณแม่สามารถโทรไปสอบถามที่โรงพยาบาลหรือคลีนิคที่ใกล้บ้านว่ารับตรวจหาเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ โดยราคาค่าตรวจจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและคลีนิค ทีมแม่ ABK จึงได้ประมาณราคาค่าตรวจไว้ดังนี้
- คลีนิคเอกชน – ค่าตรวจหาเชื้อประมาณ 400 – 700 บาท ไม่รวมค่าแพทย์ ค่าบริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
- โรงพยาบาลรัฐ – ค่าตรวจหาเชื้อประมาณ 400 – 700 บาท ไม่รวมค่าแพทย์ ค่าบริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
- โรงพยาบาลเอกชน – ค่าตรวจหาเชื้อประมาณ 600 – 2,000 บาท ไม่รวมค่าแพทย์ ค่าบริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
แต่เนื่องจากการรักษาโรค RSV นั้นยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ มีแค่รักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ เป็นต้น สำหรับรายที่มีอาการไม่รุนแรงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ เพราะแนวทางในการรักษาคือการรักษาตามอาการเท่านั้น แต่สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง การตรวจหาเชื้อ เพื่อให้แพทย์ได้ทำการตรวจรักษาและพยากรณ์อาการของโรคได้ดีขึ้น ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพได้มากขึ้นนั่นเอง
อาการอย่างไรต้องนอนโรงพยาบาล?
เมื่อผู้ป่วยไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม ผู้ปกครองควรจะพามาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม เช่น การพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก และการให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นต้น
สรุปแล้วเมื่อสงสัยว่าลูกอาจติดเชื้อไวรัส RSV สิ่งสำคัญที่สุดคือให้สังเกตอาการ หากลูกมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวังไว้คือ โรค RSV สามารถเป็นได้หลายครั้งเนื่องจากไวรัส RSV มี 2 สายพันธุ์และกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรป้องกันไม่ให้ลูกไปรับเชื้อ RSV โดยการล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน และทำให้ร่างกายแข็งแรง สิ่งเหล่านี้ก็จะลดโอกาสในการติดเชื้อ RSV ได้ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลเวชธานี
ขอบคุณรูปประกอบจาก : www.researchgate.net
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่