มีผื่นแดง คออักเสบ ให้สงสัย scarlet fever คือ โรคอะไร? - Amarin Baby & Kids
scarelet fever โรคไข้อีดำอีแดง

มีผื่นแดง คออักเสบ ให้สงสัย scarlet fever คือ โรคอะไร?

Alternative Textaccount_circle
event
scarelet fever โรคไข้อีดำอีแดง
scarelet fever โรคไข้อีดำอีแดง

scarlet fever หรือ โรคไข้อีดำอีแดง ชื่อโรคที่ไม่คุ้นหู แต่อาการป่วยที่พบบ่อยในเด็ก ผื่นแดง คออักเสบ อาการที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังสงสัยไม่ประมาท

มีผื่นแดง คออักเสบ ให้สงสัย Scarlet fever คือ โรคอะไร?

พ่อแม่ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกป่วย เมื่อลูกไม่สบายสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำ คือ สังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีอาการเช่นใดบ้าง เพื่อสังเกตอาการ และเฝ้าระวังการเกิดโรคที่รุนแรง อันตราย ผื่นแดง คออักเสบ เป็นอาการเบื้องต้นของโรคหลายชนิด และรวมถึง โรคไข้อีดำอีแดง หรือ scarlet fever ด้วยเช่นกัน เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่า ว่ามีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน และอาการใดบ้างที่ต้องสังเกต

scarlet fever คือ โรคอะไร??

โรคไข้อีดำอีแดง หรือ scarlet fever  เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคที่เรียชื่อเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง   ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี ปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมากเนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

เชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ คืออะไร 

เชื้อแบคทีเรีย เสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) เป็นเชื้อก่อโรคสำคัญของคอหอยอักเสบ เชื้อนี้สามารถสร้างสารพิษเรียกว่า อิริโทรเจนิกท๊อกซิน (Erythrogenic toxin) ซึ่งเป็นทำให้เกิดผื่นในไข้อีดำอีแดง โรคอื่นๆที่เกิดจากการติดเชื้อนี้ได้แก่ โรคติดเชื้อผิวหนัง โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น
เฝ้าระวังลูกน้อยอาการรุนแรงจากโรค scarelet fever
เฝ้าระวังลูกน้อยอาการรุนแรงจากโรค scarelet fever

ความน่ากลัวของ โรคไข้อีดำอีแดง !!

โรคไข้อีดำอีแดงถือเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายเองได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลร้ายแก่หัวใจ ไตและอวัยอื่นๆ
ติดต่อได้อย่างไร ?? 
ไข้อีดำอีแดงเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Streptococcus) โดยแบคทีเรียจะปล่อยสารพิษก่อให้เกิดอาการลิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดง และผื่นขึ้นตามร่างกาย ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อนี้ประมาณ 2-5 วัน ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในปาก และทางเดินหายใจของผู้ป่วย จะมีอยู่ในน้ำลาย เสมหะหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก ทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้โดยการหายใจสูดเอาละอองฝอยของเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรดหรือติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงผ่านทางมือผู้ป่วย การสัมผัสเชื้อโรคจากผู้ที่ติดเชื้อแล้วสัมผัสกับอวัยวะในร่างกายตนเอง อาทิ ตา จมูก หรือปาก นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดต่อผ่านกันด้วยการรับประทานอาหารจานเดียวกันหรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

อาการเป็นอย่างไร ??

ไข้อีดำอีแดงจะแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อยพลีย ปวดเมื่อยตามตัวและเจ็บคอ อย่างไรก็ตาม อาการหลักของไข้อีดำอีแดงประกอบด้วย

  • ผื่นไข้อีดำอีแดง มักเริ่มขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีไข้ แต่ในบางกรณีผื่นอาจขึ้นเป็นอาการแรกเลยก็ได้ โดยผื่นมักขึ้นที่บริเวณท้อง หน้าอก หรือบริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วลำตัว แขน และขา รอยผื่นอาจมีสีชมพูหรือแดง และจะแดงมากเป็นพิเศษตามจุดที่เป็นข้อพับ เช่น ข้อศอก หรือรักแร้ นอกจากนี้รอยผื่นยังให้สัมผัสคล้ายกับกระดาษทราย (สามารถสังเกตได้ง่ายในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม) หรือผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ มองคล้ายหนังห่าน (Goose-pimple Appearance) หากใช้แก้วกดทับบริเวณผื่นจะพบว่ารอยผื่นแดงเหล่านั้นกลายเป็นสีขาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผื่นจะขึ้นอยู่ราว 3-4 วัน ก่อนจะเริ่มลอกออกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น ไล่จากใบหน้าและลำคอลงมาเรื่อย ๆ จนถึงมือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า หลังจากผื่นขึ้น 3-4 วันจะเริ่มจางหายไป หลังจากผื่นจางได้ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกเป็นแผ่นของผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้า ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุยๆ อาการผิวลอกนี้บางรายอาจจะพบติดต่อกันได้นานเป็นเดือน
  • แก้มเปลี่ยนเป็นสีแดง ปกติผื่นแดงจะไม่ได้ลามมาที่ใบหน้า แต่แก้มมักจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจัดคล้ายโดนแดดเผา แต่บริเวณรอบปากจะขาวซีด
  • ลิ้นเป็นสีแดง หรือที่เรียกว่าลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue) ลิ้นจะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำและมีฝ้าขาวขึ้นในช่วงแรก

เฝ้าระวังอาการเหล่านี้ให้ดี!!

อาการที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากรักษาไม่หายขาดภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นตามมาได้ ได้แก่ โรคไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันซึ่งมักเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ (เกิดจากปฏิกิริยาของแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย)
รู้ทัน รักษาเร็ว ปลอดภัยจาก โรคไข้อีดำอีแดง
รู้ทัน รักษาเร็ว ปลอดภัยจาก โรคไข้อีดำอีแดง

ภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดง

สำหรับภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดง ได้แก่

  • ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) คืออาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อหัวใจ ทั้งนี้อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม หากพบอาการเจ็บคอเฉียบพลัน เจ็บเมื่อกลืน มีไข้ ปวดหัว เจ็บท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยเร็ว
  • ฝีรอบทอนซิล (Throat Abscesses) หากมีอาการเจ็บคอ กลืนน้ำ อาหาร และน้ำลายลำบาก รวมถึงมีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ ควรไปพบคุณหมอ
  • โรคไต หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดขมับหรือท้ายทอย และอาการอื่นที่เป็นสัญญาณโรคไต ได้แก่ ปัสสาวะผิดปกติมีฟองมาก ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง มีจ้ำเลือดตามร่างกาย บวมตามตัวและใบหน้า ผมร่วงผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอ
  • โรคปอดบวม (Pneumonia) คือการติดเชื้อในปอดหนึ่งหรือสองข้าง ซึ่งอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
  • ข้ออักเสบ (Arthritis) อาการหลัก คือ ปวดข้อ ข้อติด บวม แดง รวมถึงขยับข้อต่อได้ไม่เต็มที่ โดยผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการข้ออักเสบรุนแรงในช่วงเช้า
  • การติดเชื้อในหู ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับตรวจพบเยื่อแก้วหูแดงและบวม โดยเยื่อแก้วหูมักจะโป่งออกมาจนไม่สามารถเห็นโครงสร้างปกติภายในหูชั้นกลางได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเยื่อแก้วหูทะลุร่วมกับมีน้ำหนอง เลือด หรือหนองปนเลือดไหลออกจากหู บางรายอาจมีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณกระดูกกกหูร่วมด้วย
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง ในเด็กเล็กมักบอกอาการผิดปกติไม่ได้อย่างจำเพาะเจาะจง แต่อาจแสดงออกในลักษณะอาการหงุดหงิดง่าย งอแงมากผิดปกติ ร่วมกับปฏิเสธการเคลื่อนไหวของอวัยวะหรือผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ ตำแหน่งที่พบรอยโรคส่วนใหญ่ คือ บริเวณแขน ขา และเท้า ต่อมาเมื่อการติดเชื้อลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง ร่วมกับผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อจะเริ่มบวม แดง ร้อนอย่างชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณดังกล่าวอย่างมาก
วินิจฉัยได้อย่างไร ??
โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติและอาการแสดงของโรคเป็นหลัก การส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่ การเพาะเชื้อจากคอหอยผู้ป่วยซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 วันหรือการตรวจหาเชื้อจากคอหอยโดยวิธี rapid strep test ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงแต่สามารถส่งตรวจได้บางโรงพยาบาลเท่านั้น

อ่านต่อ>> การรักษา และการดูแลลูกน้อย และตัวเองให้ห่างไกลโรคไข้อีดำอีแดง คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up