ไวรัสเห็บ ระบาด! ทำความรู้จักโรค SFTS โรคร้ายจาก"เห็บ" -Amarin Baby & Kids
ไวรัสเห็บ

ไวรัสเห็บ ระบาด! ทำความรู้จัก โรค SFTS โรคร้ายใกล้ตัวจาก “เห็บ”

Alternative Textaccount_circle
event
ไวรัสเห็บ
ไวรัสเห็บ

คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมา น้องแมว อาจต้องเฝ้าระวัง และติดตามความเคลื่อนไหวข่าวการแพร่ระบาดของ ไวรัสเห็บจีน อย่างใกล้ชิด เพราะไวรัสเห็บกำลังระบาดในประเทศจีน และคร่าชีวิตแล้วอย่างน้อย 7 ราย ติดเชื้อแล้วกว่า 60 ราย ไวรัสชนิดนี้คืออะไร และจะระบาดรุนแรงเหมือนโควิด-19 หรือไม่ ทีมแม่ ABK มีข้อมูลมาฝากค่ะ

เหตุการณ์ระบาดของ ไวรัสเห็บ 

สำนักข่าวโกลบัล ไทม์ส ของจีน รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่าพบการระบาดของโรคที่เกิดจาก “ไวรัสเห็บหรือ โรค SFTS ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยครึ่งแรกของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 37 ราย เสียชีวิต 7 ราย

ต่อมาพบว่าเชื้อแพร่กระจายไปยังมณฑลอันฮุย มีผู้ติดเชื้ออีก 23 ราย ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่า จะเกิดการระบาดรุนแรงไปทั่วโลกซ้ำรอย โควิด-19 หรือไม่

ทำความรู้จักโรค SFTS คืออะไร?

โรค SFTS มีชื่อยาวๆ ว่า Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome หรือ เรียกย่อๆว่า SFTS

โรค SFTS คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล Bunyavirus ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ตอนนี่้ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ เลยใช้ว่า SFTS virus (SFTSV) ไปก่อน โดยไวรัสในตระกูลนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายลบ สามเส้นเป็นวงขนาดแตกต่างกันไป เส้นยาวสุด (Large) ขนาดยาว 6,368 เบส ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ที่ไวรัสใช้เพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม เส้นที่สอง (Medium) ยาว 3,378 เบส ทำหน้าที่สร้างโปรตีนบนเปลือกไวรัส ใช้เข้าสู่เซลล์ และ เส้นที่สาม (Small) ยาว 1,744 เบส สร้างโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และ โปรตีนอื่นๆ ที่ช่วยให้ไวรัสเพิ่มปริมาณได้

โรค SFTS
ขอบคุณภาพจาก Virology and Cell Technology Lab – BIOTEC

ด้วยคุณสมบัติของสารพันธุกรรมที่แยกเป็นเส้นๆ ดังกล่าว ปรากฏการณ์ที่ไวรัสชนิดนี้จะแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมกันในเซลล์เจ้าบ้าน ถ้าไวรัสมากกว่า 1 ชนิด ติดเข้าสู่เซลล์เดียวกันแล้วเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ (Reassortant) จึงเกิดขึ้นได้ คล้ายๆ กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

โรค SFTS ระบาดครั้งแรกเมื่อ 14 ปีก่อน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โดยพญ. พักต์เพ็ญ สิริคุตต์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายเกี่ยวกับการระบาดของโรค SFTS ไว้ดังนี้

การติดเชื้อ SFTSV พบมากใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบมากที่สุด คือ จีน (0.12 – 0.73 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ (0.07 ต่อแสนประชากร) และ ญี่ปุ่น (0.05 ต่อแสนประชากร)  ตามลำดับ ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย

  • ปี พ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยติดเชื้อ SFTSV ครั้งแรก ที่มณฑลอานฮุน ประเทศจีน
  • ปี พ.ศ. 2552 มีการระบาดอีกครั้ง พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวทั้งหมด 171 ราย ระบาดไปทั่วทั้ง 6 มณฑล ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง ซานตง เหอหนาน อานฮุน เจียงซู และหูเป่ย์
  • ในช่วงปี พ.ศ.2556 – 2559 มีการระบาดอย่างต่อเนื่องทุกปี ในพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกของประเทศจีน พบผู้ป่วยถึง 7,419 ราย เสียชีวิต 355 ราย อัตราการตายเฉลี่ยร้อยละ 35
  • ปีพ.ศ. 2560 พบผู้ป่วยหญิงชาวญี่ปุ่นอายุ 51 ปีเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า เชื้อนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ เป็นเชื้อที่มีมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งมีแนวโน้มการระบาดหนักในปีนี้ โดยพบการระบาดในคนมากกว่า 60 คน และ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10% ซึ่งไม่เคยพบการระบาดและเสียชีวิตมากเท่านี้มาก่อน

การติดต่อของ ไวรัสเห็บ

เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เชื่อว่าแพร่สู่คนโดยเห็บเป็นพาหะสำคัญ หลักฐานการแพร่กระจายจากคนสู่คนที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่าคงจะไม่แพร่อย่างรวดเร็วเหมือน โควิด-19 เพราะแพร่ทางการสัมผัสเลือดที่ติดเชื้อ ไม่ใช่ทางเดินหายใจ แต่ด้วยอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าปกติ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในจีนต่อไป

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

โรค SFTS  อาการที่ต้องรู้

ผู้ป่วย SFTS จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวจะลดลง ผู้ป่วยที่อาการหนักจะพบการเลือดออกคล้ายไข้เลือดออก อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ และ อาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะไข้ (fever stage)
  2. ระยะ multiple organ failure
  3. ระยะฟื้นตัว (convalescence)

ระยะไข้ (fever stage)

ลักษณะอาการ คือ มีไข้สูง (5 – 11 วัน) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีระดับไวรัส (viral load) สูง

ระยะ multiple organ failure

ระยะนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ของโรค โดยมีระยะเวลาทั้งหมด 7 – 14 วัน ในระยะนี้จะพบมี multiple organ failure ได้แก่ ตับ หัวใจ ปอด และไตมีอาการเลือดออก มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

ระยะฟื้นตัว (convalescence)

ระยะนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 – 19 ของโรค โดยอาการจะดีขึ้นเป็นลำดับ ค่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ผิดปกติจะเริ่มดีขึ้นในระยะนี้ ส่วนค่า biomarkers ต่างๆ จะกลับสู่ค่าปกติอาศัยระยะเวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์

การป้องกัน โรค SFTS หรือ ไวรัสเห็บ

ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียาต้านไวรัส ชื่อว่า Ribavirin ที่มีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเชื้อไวรัสเห็บนี้ต่อไป และหากมีข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทีมแม่ ABK จะรีบมาอัพเดทให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบอีกครั้งค่ะ สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง รักษาความสะอาด “ระวังเห็บ” กันด้วยนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์ , เพจ Virology and Cell Technology Lab – BIOTEC , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกโดน “เห็บกัด” อย่าชะล่าใจ อาจติดเชื้อจากโรคลายม์

อุทาหรณ์! แม่ช๊อคเจอ เห็บเข้าหู วางไข่ในหูลูกเป็นสัปดาห์!

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up