ลูกป่วยบ่อย …เพราะในยุคสมัยนี้ ตัวเชื้อโรค เริ่มมีวิวัฒนาการที่สูง สามารถทนกับสภาพแวดล้อมบ้านเราได้ดี จึงเพาะเชื้อที่มีความแข็งแรงและหลากหลายมากมาย มาเพื่อความอยู่รอดของตัวมันเอง ทำให้เมื่อเข้าสู่ร่างของคนเรา ยิ่งเฉพาะลูกน้อย เด็กตัวเล็กที่ภูมิต้านทานน้อยด้วยแล้วล่ะก็ยิ่งง่ายเลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยป่วยบ่อยนั่นเอง
ลูกป่วยบ่อย ระวัง 7 โรค แม้เป็นแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก
เมื่อลูกป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่มักจะกังวลใจจนแทบจะป่วยไปกับลูก หรือ บางคนมีอาการหนักมากกว่าลูกเสียอีก เพราะไม่ทราบว่าควรจะดูแลลูกอย่างไรเมื่อมีอาการป่วยเกิดขึ้น ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย และมักเป็นๆ หายๆ หรือ เป็นแล้วหาย ก็กลับมาเป็นหนักได้อีก
ทั้งนี้ที่ ลูกป่วยบ่อย เพราะระบบภูมิคุ้มกันภูมิต้านทานยังไม่เพียงพอ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกัน คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายของลูกน้อยจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจเข้ามาทำอันตรายร่างกายเราได้ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต พยาธิ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายยังไม่รู้จัก เรียกว่าแอนติเจน (antigen)1
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังและดูแลลูกเป็น 2 เท่าเพื่อไม่ให้ลูกกลับมาป่วยอีก จนต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาอาการป่วยของลูกอย่างเดียว มาดูกันค่ะว่ามีโรคอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลก่อนที่จะบานปลาย หรือมีโรคร้ายประเภทไหนที่ต้องวางแผนเพื่อรับมืออย่างมีสติกันบ้าง ไปดูกันค่ะ
♦ โรคไข้หวัด
โรคหวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการหวัดมีมากมายหลายชนิด ที่พบบ่อยๆได้แก่พวก Rhinovirus, Adenovirus, Influenza, Parainfluenza virus, Coxachie virus ฯลฯ ทำให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 4-6 ขวบเป็นหวัดได้บ่อยเนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานดีพอที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้ บางคนเป็นบ่อยมากแทบจะทุกเดือนเลย ความจริงแล้วการเป็นหวัดบ่อยๆ นั้น นอกจากจะเนื่องจากภูมิต้านทานของเด็กไม่ค่อยจะดีแล้ว ก็อาจเนื่องจากการได้รับเชื้อบ่อยๆ โดยเฉพาะถ้าหากเราพาลูกไปเที่ยวที่มีคนเยอะๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าสวนสนุก โรงภาพยนตร์ พอหลังจากไปเที่ยวสัก 1-2 วัน ลูกก็อาจจะมีอาการหวัดได้ ดังนั้นทางที่ดีไม่ควรพาลูกที่ยังเล็กอยู่ไปเที่ยวที่มีคนมากเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกได้รับเชื้อบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นหวัดน้อยลง2
อาการโรคหวัด
มีน้ำมูก คัดจมูก ไอและมีไข้ ลูกยังอาจจะนอนและกินนมไม่ค่อยได้ด้วย (ถ้าคัดจมูก การดูดนมแม่หรือนมขวดก็จะกลายเป็นเรื่องยาก) ซึ่งหากเป็นแล้วก็สามารถเป็นได้อีกเรื่อยๆ เพราะเชื้อไข้หวัดมีมากนั่นเอง
การรักษาโรคหวัด
กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าเป็นลูกวัยแรกเกิด ให้พาไปพบแพทย์ทันที แต่ถ้าลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือน อาการอาจจะรุนแรงจนทำให้เขากินนม หายใจหรือนอนไม่ค่อยได้ ต้องพาไปพบแพทย์เช่นกัน
ส่วนยาที่ใช้รักษาโรคหวัดโดยตรงนั้นยังไม่มี ที่มีใช้กันอยู่ในตอนนี้ก็เป็นเพียงยารักษาตามอาการเท่านั้น โดยจะช่วยทำให้น้ำมูกลดลง คนไข้โล่งจมูก รู้สึกสบายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นยารักษาหรือแก้หวัดโรคหวัดโดยตรง จึงควรให้ทานเมื่อเวลาต้องการบรรเทาอาการ ให้รู้สึกสบายขึ้นเท่านั้น
รวมไปถึงการใช้วิธีล้างจมูกให้ลูกหายใจสะดวก โดยใช้น้ำเกลือและลูกยางแดง และเปิดเครื่องทำความชื้น อากาศในห้องจะได้ไม่แห้งเกินไป แต่อย่าใช้วิธีปรับระดับหัวเตียงให้สูงขึ้นหรือให้ลูกนั่งหลับในคาร์ซีทเด็ดขาด เพราะเป็นวิธีที่อันตราย
♦ ไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever)
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด
อาการโรคไข้เลือดออก
มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ
ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา
การรักษาไข้เลือดออก
ในส่วนของการรักษา แพทย์จะทำการประเมินอาการของผู้ป่วยบ่อยๆ และทำการตรวจเลือดแบบทั่วไป และดูค่าความเข้มของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน รวมถึงตรวจดูความผิดปกติของระดับเอนไซม์ตับ คือ AST และ ALT ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคได้พอสมควร หากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น มีจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลงมาก (จากหลายแสนลดลงเหลือเพียงไม่กี่หมื่น) ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่ายหรือซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง นั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ แพทย์จะทำการย้ายผู้ป่วยไปยังห้องไอซียูเพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมการให้เลือดหรือสารน้ำเกลือที่จำเป็นเพื่อรักษาอาการช็อกจากการเสียเลือดภายในร่างกายที่เกิดจากภาวะไข้เลือดออกให้ทัน จนกว่าผู้ป่วยจะหายจากภาวะช็อก ซึ่งมักใช้เวลาอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมงขึ้นไป3
สำหรับความเชื่อที่ว่าเด็กที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะไม่เป็นอีก แต่ความจริงแล้วไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ (DENV 1-4) แต่ละปีผลัดเปลี่ยนกันระบาดในความชุกที่แตกต่างกัน คนจึงมีโอกาสเป็นซ้ำได้ในช่วงชีวิตถึง 4 ครั้ง
อ่านต่อ >> “ระวังโรคที่ ลูกป่วยบ่อย แล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่