ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน พบได้ทั้งแม่ลูก - Amarin Baby & Kids

ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน พบได้ทั้งแม่ลูก

Alternative Textaccount_circle
event

ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน พบได้ทั้งแม่ลูก

ช่วงหน้าฝนแบบนี้ คุณแม่หลายท่านรวมทั้งลูกน้อยเกิดผดผื่นขึ้นตามลำตัว และมักมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งผื่นนั้นก็มีหลายแบบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ วันนี้ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอแนะนำให้คุณแม่รู้จัก โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน ชนิดหนึ่งคือ ผื่นกุหลาบ นั่นเองค่ะ จะมีอาการอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้ค่ะ

ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน

ผื่นกุหลาบ หรือผื่นขุยกุหลาบ เป็นอาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส  ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นวงกว้างสีชมพู หรือเป็นจุดรูปไข่ขึ้นตามหน้าอก หน้าท้อง และแผ่นหลัง โดยมักมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอายุ 10-35 ปี

สาเหตุของผื่นกุหลาบ

สาเหตุของผื่นกุหลาบยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลเฮอร์ปีส์ (Herpes Virus) แต่ไม่ใช่ไวรัสสายพันธ์ุที่เป็นสาเหตุของโรคเริม และโรคอีสุกอีใส และผื่นกุหลาบไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้

การใช้ยาบางประเภทก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอนไซม์เอซีอี ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล ยาไอโซเตรติโนอินที่ใช้รักษาสิว ยาโอเมพราโซลสำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น

ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน พบได้ทั้งแม่ลูก
ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน พบได้ทั้งแม่ลูก

อาการของผื่นกุหลาบ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ มาก่อน ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และปวดตามข้อ จากนั้นจะมีผื่นขึ้น โดยแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ผื่นปฐมภูมิ ในช่วงเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีผื่นสีชมพู หรือสีแดง อาจมีรูปร่างกลม หรือเป็นวงรี และมีขุยล้อมรอบปรากฏเป็นปื้นใหญ่โดด ๆ ขนาด 2-10 เซนติเมตร บริเวณหลัง หน้าอก ใบหน้า และคอ บางรายอาจมีผื่นขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ โดยอาจเรียกผื่นปฐมภูมินี้ว่า ผื่นแจ้งโรค หรือผื่นแจ้งข่าว (Herald Patch)
  • ผื่นแพร่กระจาย หลังจากเกิดผื่นปฐมภูมิ ภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขุยเล็ก ๆ สีชมพูขนาด 0.5-1.5 เซนติเมตร แพร่กระจายบริเวณหน้าอก หน้าท้อง หลัง คอ ต้นขา และต้นแขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้น มักมีลักษณะตามแนวรอยพับของผิวหนัง คล้ายต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Distribution แต่มักไม่พบผื่นนี้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้า

ทั้งนี้ อาการผื่นขุยทั้ง 2 ระยะจะปรากฏอยู่นาน 2-12 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการคงอยู่นานถึง 5 เดือนและหายไปเอง

โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน
ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังพบบ่อยในหน้าฝน

การรักษาผื่นกุหลาบ

โดยปกติแล้ว อาการผื่นกุหลาบมักจะหายไปได้เองภายใน 6 – 8 สัปดาห์ การรักษาจึงเป็นแบบการประคับประคองตามอาการเป็นหลัก แต่หากอาการคงอยู่นานกว่า 3 เดือน ก็ควรไปพบแพทย์

วิธีบรรเทาอาการผื่นกุหลาบด้วยตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้

  • อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน
  • เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว และการมีเหงื่อออกมาก อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ อาจใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน เช่น

  • ครีมแก้คัน ทาครีมที่มีส่วนผสมของยาไฮโดรคอร์ติโซน 1 เปอร์เซ็นต์ บริเวณที่เป็นผื่น
  • ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ เช่น ยาคลอเฟนิรามีน ยาไดเฟนไฮดรามีน เป็นต้น
  • ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น อะไซโคลเวียร์ เป็นต้น
  • โลชั่นบำรุงผิว เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น

ทั้งนี้ หากใช้ยาและดูแลตนเองตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล มีผื่นแพร่กระจายจำนวนมาก หรือผู้ป่วยมีอาการคันรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์ เพื่อช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น เช่น ยาอิริโทรมัยซิน ยารอกซิโทรมัยซิน เป็นต้น และบางรายอาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ผื่นคันระหว่างตั้งครรภ์ รอยแตกลายที่ท้อง ป้องกันได้

ลูกแพ้ยุง โดนยุงกัดทีไร เป็นผื่นแพ้ยุง ทำยังไงดี?

วิธีสังเกต ลูกเป็น “ผื่นแพ้นมวัว” หรือไม่? โดยคุณหมอนิอร

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up