ปัญหาแก๊สในกระเพาะอาหารของพ่อแม่
สมัยนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเร่งรีบ ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลกับร่างกายของเรา ภาวะแก๊สในทางเดินอาหารนั้น หลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้ให้ความใส่ใจ เพราะคิดว่าไม่มีผลร้ายแรงอะไรกับร่างกาย แต่หารู้ไม่ว่าอาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังประสบภาวะโรคร้ายอยู่ จริงๆ แล้วการผายลม การเรอ ถือเป็นเรื่องปกติ ที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่า “ดีแล้ว ปล่อยออกมาบ้าง จะได้ไม่อึดอัด” แต่ถ้ามันมากเกินไป มันอาจเป็นสัญญาณบางอย่างว่า ร่างกายของเรากำลังประสบกับภาวะบางอย่างอยู่
สาเหตุของการเกิดแก๊สในทางเดินอาหาร
นายแพทย์สว่างพงษ์ พูลทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุร ศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า แก๊สในทางเดินอาหารนับวันยิ่งเป็นปัญหาทำให้มีผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเหล่านี้มากขึ้น อาจเนื่องจากระบบการใช้ชีวิตของมนุษย์มีความรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมากขึ้นไปด้วย ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดนั้นได้แก่
- การกลืนอากาศเข้าไป คนส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยทราบว่า เวลาที่เรารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำนั้น เรามักจะกลืนก๊าซไนโตรเจน และก๊าซออกซิเจนเข้าไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณจะอยู่ที่ 2.6 ลิตรต่อน้ำ 1.5 ลิตรต่อวัน หรืออาจจะมากกว่านี้ โดยก๊าซที่กลืนเข้าไปนั้น ก็จะถูกขับออกมาด้วยการเรอนั่นเอง
- เกิดจากการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ร่างกายสร้างแก๊สดังกล่าวขึ้นมาเอง โดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จะย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ย่อยยากบางชนิด และจากปฏิกิริยาของสารในร่างกาย กลุ่มนี้จะเป็นประเภท ก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ก๊าซมีเทน ตลอดจนก๊าซอย่างอื่นอีกเล็กน้อยอันจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ อาการแก๊สในทางเดินอาหาร ยังสามารถถูกกระตุ้นได้จากการรับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป เช่น อาหารประเภทนม ไอศกรีม เนย โยเกิร์ต น้ำอัดลม น้ำผึ้ง หรือของขบเคี้ยว เช่น ถั่วต้ม ถั่วเหลือง ลูกอม หมากฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด มันฝรั่ง เมล็ดพืชอบแห้ง ตลอดจนกะหล่ำปลี บรอกโคลี เป็นต้น
นายแพทย์สว่างพงษ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “คนเราผายลมเฉลี่ย 10-20 ครั้งต่อวัน ในปริมาณแก๊สที่ถูกขับออกมาถึง 0.5- 1.5 ลิตรต่อวัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับอายุหรือเพศ”
โดยคนไข้ส่วนใหญ่ที่พบนั้น มักจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด เรอบ่อย ผายลมบ่อยกว่าปกติ โดยอาการเหล่านี้ผู้ป่วยเองรับรู้ว่าเกิดจากการที่ร่างกายมีแก๊สในทางเดินอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือนานๆ บ่งชี้ได้ถึงภาวะอันตรายที่จะนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายสามารถอยู่กับเราไปได้นานๆ การดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรทำ จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูพร้อมๆ กันค่ะ
วิธีการดูแลตัวเอง
การที่เราจะมีอายุยืนยาวได้นั้น ต้องเริ่มจากการมีสุขภาพที่แข็งแรงกันก่อนค่ะ คนส่วนใหญ่มักที่จะสนใจดูแลแต่ร่างกายภายนอก แต่ระบบภายในนั้นมักที่จะมองข้าม เช่นเดียวกับภาวะแก๊สในทางเดินอาหาร หากเราไม่อยากเป็น ไม่อยากท้องป่องเหมือนคนท้องล่ะก็ แนะนำให้ปฏิบัติตามดังนี้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแก๊ส เช่น อาหารที่ผลิตจากนม เนย ไอศกรีม น้ำอัดลม หรือพืชผักบางชนิด ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี บรอกโคลี เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยในระหว่างรับประทานอาหาร พร้อมทั้งเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
- งดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น จะเป็นการกินอากาศเข้าไปด้วยค่ะ
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ หากเราทำได้ละก็ สุขภาพดีๆ ไร้โรคจะไปไหนเสีย
ขอบคุณที่มา: POBPAD, Bangkok Health และ OKNation
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
- แม่โพสต์เตือน! อย่ามองข้าม อาการหนาวสั่นหลังคลอด เสี่ยงเป็นโรคร้ายได้
- น้ำมันทอดซ้ำ ใช้แล้วทิ้ง อย่าเสียดาย ไม่งั้นทำลายสุขภาพแน่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่