มาแน่! 5 โรคหน้าร้อน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
ฤดูร้อนในเมืองไทยมีไอความร้อนแรง ๆ จนทำให้หลายคนไม่สบายเพราะความร้อน นอกจากนี้ก็มักเจอโรคต่าง ๆ ที่มากับอากาศร้อน ซึ่งพร้อมที่จะทำให้ลูก ๆ ของเรา รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่เจ็บป่วยได้ทุกเมื่อ หน้าร้อนนี้มี โรคหน้าร้อน อะไรที่ควรระวังให้มาก มาดูกันค่ะ
-
โรคหน้าร้อน ท้องเสีย
มักเกิดจากการที่ลูกรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งเชื้อเหล่านี้นอกจากปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มแล้ว ยังอาจติดอยู่ที่มือของลูกน้อยผ่านการหยิบจับสิ่งของสกปรกมาก่อน การแพ้อาหารบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
อาการท้องเสียนั้นมีจุดสังเกต ดังต่อไปนี้
- อุจจาระมีลักษณะเหลว หรือถ่ายออกเป็นน้ำ
- ถ่ายท้องต่อเนื่อง มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- มีอาการปวดท้องเกร็งที่รุนแรงกว่าปรกติ
- ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และเหมือนมีไข้อ่อน ๆ
หากลูกมีอาการเหล่านี้ ก็แปลว่ากำลังเผชิญกับอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน แต่หากมีอาการท้องเสียต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 – 14 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์นะคะ
ป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง
- ให้ลูกล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกครั้ง
- เลี่ยงไม่ให้ลูกการรับประทานอาหารที่ไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความสะอาด เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้
- เมื่อลูกเกิดอาการท้องเสียควรดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- ให้ลูกรับประทานยาบรรเทาอาการท้องเสีย ซึ่งช่วยยับยั้งเชื้อ แบคทีเรีย และบรรเทาอาการท้องเสียได้
- ให้ลูกรับประทานอาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำซุป เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
-
โรคพิษสุนัขบ้า
เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านทางน้ำลายของสัตว์ โดยสัตว์ที่นำโรคไม่ใช่แค่สุนัขหรือแมว แต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า หากลูกได้รับเชื้อนี้และเชื้อเข้าสู่สมอง จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง จะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ จะมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
ถ้าลูกถูกสุนัขจรจัด หรือ แม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้านกัด ข่วน หรือเลียแผล ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
- ล้างแผลให้ลูกด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ให้ลึกถึงก้นแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือ น้ำเกลือ ที่มีอยู่ที่บ้าน
- รีบพาลูกมาพบแพทย์ ปัจจุบันนี้ยังไม่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้นเมื่อลูกโดนสัตว์กัด ให้รีบพบแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยเฉพาะเมื่อสัตว์ที่กัดไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขหรือสัตว์ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน
-
โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก
โรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายของลูกได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การตากแดดนาน ๆ ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 17-70 เลยทีเดียว
อาการที่สังเกตได้ คือ ลูกจะไม่มีเหงื่อออก แต่ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย นอกจากนี้ ลูกอาจมีอาการเพิ่มเติม ได้แก่ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค หากเกิดอาการดังกล่าวจำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
วิธีการป้องกันโรคลมแดด คือ
- ให้ลูกดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากลูกต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะอยู่ในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
- ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
- ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
-
ผดร้อน
ผดร้อน เป็นตุ่มคันขนาดเล็ก เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งผดร้อนอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกายลูก เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา เป็นต้น ผดร้อนเป็นภาวะที่ไม่อันตราย และอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง แต่หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์
- ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
- ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผดมีสีแดงสว่าง หรือเป็นริ้วลาย และผดเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
- เจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจเกิดร่วมกับอาการบวม แดง หรือ รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่เป็นผด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ
- ติดเชื้อ เมื่อผดร้อนที่เกิดขึ้นเริ่มมีหนองหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ
- มีไข้ หรือมีสัญญาณของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ
เมื่อพบว่ามีผดร้อนเกิดขึ้น อาจบรรเทาอาการคัน หรือป้องกันอาการกำเริบลุกลามได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
- ให้ลูกอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น หรือมีเครื่องปรับอากาศ และประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยลดความร้อน
- หลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมาก
- ให้ลูกอาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง และปล่อยให้ผิวแห้งเองหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสีจนเกิดผดร้อนอักเสบเพิ่มขึ้น
-
โรคไมเกรน
เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังตัวเอง โดยอาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรือปัจจัยกระตุ้น ส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการขยายตัวได้มาก และง่ายกว่าคนปกติ อาจจะมีอาการนำก่อนมีอาการปวดหัว หรือไม่มีอาการนำก็ได้ อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เกิดตาพร่า เห็นภาพ หรือ แสงสีผิดปกติ รู้สึกหนักที่แขนขาเหมือนไม่มีแรง มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา แสบร้อน
ปัจจัยที่ทำให้โรคไมเกรนมีอาการมากขึ้น ได้แก่
- ภาวะเครียด
- การอดนอน
- การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
- ขณะมีประจำเดือน หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
- อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต
การดูแลตนเองทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความร้อน การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อาหาร กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์
- การใช้ยาบรรเทาอาการปวดรักษา เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้ปวด-อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยากลุ่ม Ergot ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้นและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
คุณพ่อคุณแม่ ควรรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ระมัดระวังตนเองรวมทั้งลูกน้อยจากอาการร้อน เพื่อไม่ให้ต้องเจ็บป่วยจากโรคที่มากับหน้าร้อนนี้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , โรงพยาบาลวิภาวดี, pobpad, โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่