เดี๋ยวเข้าห้องแอร์ เดี๋ยวอยู่นอกบ้าน พฤติกรรมเสี่ยงแบบนี้อาจทำให้ลูกเป็น หวัดแดด ไข้หวัดในหน้าร้อนที่ไม่ควรมองข้าม หวัดแดด มีอาการต่างจากไข้หวัดปกติอย่างไร? อ่านต่อเลย
หวัดแดด ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?
ฤดูฝนมักจะเป็นฤดูที่เด็ก ๆ ป่วยกันบ่อย เพราะอากาศที่เย็นลงนั้น เอื้อต่อการแพร่เชื้อโรคของไวรัสและแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ได้ แต่อากาศร้อน ๆ ก็ใช่ว่าจะทำให้ลูกน้อยของเราปลอดภัยหรอกนะคะ เพราะอากาศร้อน ๆ อย่างนี้ ก็ทำให้ลูกเสี่ยงที่จะเป็น “หวัดแดด” ได้เช่นกัน แม้หวัดแดดจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดร้าย ๆ ชนิดอื่น ๆ แต่การเรียนรู้ อาการและวิธีรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวของลูกได้ นอกจากนี้ยังจะสามารถสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่ไปพบแพทย์ได้อีกด้วย
หวัดแดดคืออะไร?
หวัดแดดเป็นการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้
โรคหวัดแดดมีสาเหตุมาจากอะไร?
- อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน
- ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น
- การอยู่กลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่อาจได้รับรังสีความร้อน
- การอยู่ในสภาวะที่มีลมหรือการระบายอากาศน้อย
ใครที่เสี่ยงเป็นไข้หวัดแดดบ้าง?
ไข้หวัดแดดนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เกษตรกร นักกีฬา, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วน, ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ, ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งผู้ที่ต้องเข้าออกบ่อย ๆ ระหว่างสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศและสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด
ไข้หวัดแดด เชื้อโรคชนิดเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่นะ
หวัดแดดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อโรคในกลุ่มเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เพียงแต่ไข้หวัดแดด เป็นไข้หวัดที่เกิดในหน้าร้อน ดังนั้น อาการป่วยเมื่อเป็นไข้หวัดแดดนั้น จะแตกต่างจากอาการป่วยเมื่อเป็นไข้หวัดทั่วไปและไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
โรคหวัดแดดแตกต่างจากไข้หวัดทั่วไปอย่างไร?
- มีไข้ต่ำ ๆ (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียล)
- วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ครั่นเนื้อครั่นตัว
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ
- ท้องไส้ปั่นป่วน
- ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- นอนไม่ค่อยหลับ
หลายครั้งผู้ที่เป็นหวัดมักเกิดความสับสนระหว่าง หวัดแดด กับ ไข้หวัด เพราะอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ในความจริงแล้ว ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนหวัดแดดจะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใสๆเพียงเล็ก น้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึก ขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน
มาทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดแดดกันเถอะ
วิธีดูแลเมื่อเด็กเป็นไข้หวัดแดด
เนื่องจากไข้หวัดแดดเกิดขึ้นจากเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถหายได้เองหากดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ดังนั้น วิธีการดูแลเมื่อเด็กเป็นไข้หวัดแดด จะคล้าย ๆ กับการดูแลเด็กเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
- ให้ลูกน้อยพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยฟื้นฟูให้ร่ายกายกลับมาแข็งแรงได้โดยเร็ว
- เมื่อมีไข้ ให้หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน (อ่านต่อ การเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่างถูกวิธี)
- ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ หรือให้ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วเป็นอย่างน้อย การดื่มน้ำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายความร้อนจากร่างกายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การดื่มน้ำหรือจิบน้ำบ่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ จากไข้หวัดแดดได้อีกด้วย
- ในกรณีที่มีไข้ อาจทานยาลดไข้ร่วมด้วย (อ่านต่อ วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง) สำหรับทารกแรกเกิด เมื่อมีไข้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาลดไข้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อและการรับเชื้อเข้าร่างกายเพิ่มในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบ่อย ๆ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว จะทำให้อาการไข้หวัดแดดแย่ลงได้
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านเข้าใจผิดว่าเมื่อเป็นไข้ จะต้องห่มผ้าหนา ๆ เพราะลูกจะหนาว แต่ในความเป็นจริงแล้วการห่มผ้าหนา ๆ หรือใส่เสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อไม่ให้ลูกหนาวสั่น ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่ลูกเป็นไข้หวัดแดดค่ะ การให้ลูกอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป และมีอากาศถ่ายเท จากนั้นให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อระบายความร้อนที่อยู่ในร่างกายออกไปได้ง่าย ๆ ถึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้องค่ะ
โรคหวัดแดด แม้ไม่แสดงอาการที่รุนแรงแต่ความร้อนที่สะสมอยู่ภายในร่างกายย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน เช่นเดียวกับเครื่องยนต์ที่ร้อนจัด สมรรถนะ ในการทำงานก็ย่อมลดลงตามไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหวัดแดด ดังนี้
วิธีป้องกันและดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหวัดแดด
- เพื่อป้องกันการเกิดไข้หวัดแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้ร่างกายสะสมความร้อนมากเกินไปจนไม่สบายได้
- หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หรือมีกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้ง ควรใส่หมวก กางร่ม หรือสวมเสื้อผ้าเบาสบายแต่ปกปิดผิวได้ทั้งร่างกาย เช่น การสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
- ระหว่างวัน หรือขณะที่อยู่กลางแดดให้หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกกระหายน้ำมากเกินไป เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดหวัดแดด ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดได้ด้วยเช่นกัน
- ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก่อนออกแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างต่ำ ทา 30 นาที ก่อนออกแดด และระหว่างวันก็สามารถทาครีมกันแดดได้เช่นกัน
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายครบถ้วน จะได้ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
- หมั่นพากันไปทั้งครอบครัว เพื่อออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- ในวันที่อากาศร้อนจัด แต่หากจำเป็นต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานหลายชั่วโมง นอกจากการดื่มน้ำบ่อย ๆ แนะนำให้หาผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำเย็น แล้วเช็ดทั่วตัวบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนของร่างกาย
โรคหวัดแดด แม้ไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่สำหรับเด็กเล็กนั้น โรคนี้ก็สร้างความทรมานจากอาการคอแห้ง เจ็บคอ มีไข้ ให้กับลูกน้อยได้ อีกทั้งโรคนี้ยังทำให้ลูกร่างกายอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายชนิดอื่น ๆ เช่น โรคโควิด-19 ได้อีกด้วย ดังนั้น มาป้องกันลูก ๆ ไม่ให้เป็นโรคหวัดแดดกันเถอะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เด็ก!! เสี่ยงติด “โรคพิษสุนัขบ้า” โรคที่ไม่ได้เกิดจากแค่สุนัข
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, RAMA Channel, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่