เช็คที่นี่!! 6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ต้องระวัง
ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแสงแดดจัด หลายคนมักกังวลว่าแสงแดดอาจทำลายผิว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจกับตัวคุณพ่อคุณแม่เองและลูก ๆ ด้วยนะคะ เพราะอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนร่างกายต้องขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกมา เหงื่อจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรคผิวหนังในหน้าร้อน ค่ะ
โรคผิวหนังในหน้าร้อน ผด
ผดเกิดจากความผิดปกติของท่อเหงื่อ เมื่อมีเหงื่อเพิ่มขึ้น หนังขี้ไคลที่บวมอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เกิดผด ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กกระจายสม่ำเสมอ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใส ๆ พบมากในเด็ก มักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก หน้าขา และรักแร้ ในผู้ใหญ่มักพบผดในบริเวณร่มผ้าที่มีการเสียดสี เช่น คอ หนังศีรษะ หน้าอก ลำตัว และข้อพับ
การป้องกันและรักษาคือ พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น มีลมโกรก เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศตามความเหมาะสม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หากอาการไม่ดีขึ้นให้ทายาแก้ผื่นคัน แป้งน้ำ และในเวลาที่เหงื่อออกมาก ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าซุบน้ำเช็ด ไม่ควรทาผลิตภัณฑ์ที่เป็นครีมหรือน้ำมัน เพราะสารเหล่านี้จะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เหงื่อระบายออกได้น้อยกว่าเดิม
โรคผิวหนังจากเชื้อรา เช่น เกลื้อน และกลาก
เกลื้อน เกิดจากราที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลาย ๆ วง มีขุยละเอียด สีต่างกัน เช่น สีจางหรือสีขาว แดง น้ำตาล หรือดำ มักเกิดขึ้นบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ และคอ มักไม่มีอาการคันพบมากในผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก อยู่ในที่ร้อนมาก ๆ สวมเสื้อผ้ารัดแน่นหรือเสื้อผ้าที่อับชื้น เนื่องจากการเกิดความอับชื้น ทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
กลาก ผื่นมีลักษณะเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน เป็นขุย เริ่มต้นด้วยอาการคันแล้วตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมาก หากเป็นรุนแรง กลากอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือรวมกันเป็นวงใหญ่ เป็นรอยนูนขึ้นมา คันภายใต้ผิวหนัง และอาจมีตุ่มพองหรือตุ่มหนองเกิดขึ้นรอบวง มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า หนังศีรษะ ดังนั้น ต้องดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายให้ดี บางครั้งกลากอาจจะติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรค หรือติดจากสัตว์เลี้ยงก็ได้
โรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
มักเกิดในบริเวณที่อับชื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า เป็นต้น ตัวอย่างได้แก่
โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะเหม็นมากกว่าคนทั่วไป มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้งเป็นประจำทุกวัน หมั่นทำความสะอาดตามซอกเล็บและตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ รวมไปถึงใช้ที่ขัดเท้าช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออก เพราะผิวหนังชั้นนอกเหล่านี้อาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและความอับชื้น
ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Erythrasma) จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้ง ๆ ออกน้ำตาล มักพบบริเวณรักแร้ขาหนีบ ซอกนิ้วเท้า
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูร้อนจะมีโอกาสเกิดมากขึ้น เพราะมีเหงื่อเป็นตัวกระตุ้น บริเวณที่เหงื่อออกมาก ก็จะมีผื่นมาก เช่น บริเวณข้อพับแขน บริเวณข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ โดยลักษณะผื่นมักเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อน หรือมีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นได้
ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheicdermatitis)
เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู หนังศีรษะ มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัด หรือโดนความร้อนมากๆ
ผิวไหม้แดด
พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน มักเกิดขึ้นเมื่อโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้ผิวไหม้แดดและลอก ผิวจะดำคล้ำขึ้นและทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแดด ควรใส่เสื้อผ้าแขนยาวป้องกันแสงแดด ทาครีมกันแดด ใส่แว่นกันแดดใส่หมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวี
โรคผิวหนังที่มากับหน้าร้อนบางโรค คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดกับตนเองและลูกได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังเพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับโรคนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
แนวหน้า, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก