เรื่องของกินคือเรื่องอร่อยของทุกคน แต่สำหรับคนชอบกินผักสด หมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบควรต้องระวัง หลังพบว่าโรค พยาธิตืดหมู ส่งผลต่อร่างกายเกินกว่าที่จะคิดได้!
เตือนภัย! กินผักสด หมูดิบต้องระวัง พยาธิตืดหมู ไชยั้วเยี้ยเต็มร่างกาย
ปลุกกระแสให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องโภชนาการกับการบริโภคอาหารแบบปรุงสุก หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบ ๆ หรือการรับประทานผักสดที่จำเป็นต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน เมื่อมีเรื่องราวเตือนภัยของผู้ป่วยอายุ 18 ปี ไปโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะ อาเจียน ชัก และประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนแปลง โดยจากการตรวจเริ่มแรกพบหนังตาขวาบวม ผู้ป่วยมีอาการชัก ตามด้วยกล้ามเนื้อตึง เกร็ง และหมดสติ ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่บริเวณขาหนีบนำมาก่อน ตามด้วยเจ็บที่อัณฑะขวา ผลการตรวจด้วย MRI พบซีสต์จำนวนมากในเนื้อเยื่อสมอง ศีรษะ กล้ามเนื้อ คอ ผนังหน้าอก ผนังหน้าท้อง กล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกเชิงกราน และกล้ามเนื้อแขนขา และยังพบซีสต์ในตาและอัณฑะ ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “พยาธิตืดหมู” การได้รับเชื้อนี้ เกิดจากการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ น้ำ หรือดินที่ติดมากับมือแล้วไม่สะอาด
ภาพจากเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ระบุว่า จุด ๆ สีขาวนั้นคือซีสต์พยาธิตืดหมูกระจายเต็มตัวไปหมด ซึ่งเป็นระยะตัวอ่อน cysticercus ของพยาธิตืดหมู
โรคพยาธิตืดหมู คืออะไร?
พยาธิตืดหมู หรือตัวตืดหมู คือปรสิตชนิดหนึ่งที่เป็นพยาธิของคน เกิดจากพยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน พยาธิตืดตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กได้หลายปี มีความยาวประมาณ 2 ถึง 7 เมตร ลักษณะลำตัวมี สีขาวขุ่น เป็นปล้องแบน แต่ละปล้องจะมีไข่ประมาณ 30,000- 50,000 ฟอง ซึ่งอยู่ส่วนปลายจะหลุดออกจากตัวเต็มวัย และเคลื่อนที่ได้ จึงอาจคืบคลานออกมาทางรูทวารได้เอง หรือปล้องสุกอาจจะแตกก่อนที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และปล่อยไข่ปะปนออกมากับอุจจาระของคน และกระจายอยู่ในธรรมชาติ รอเวลาเข้าสู่คนหรือหมูเป็นวงจรต่อไป
พยาธิตืดหมูสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งคนและหมู หมูและคนเมื่อได้รับไข่พยาธิจะทำให้เกิดการติดเชื้อ แบ่งเป็น พยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ โดยตัวอ่อนจะฝังตัวตามอวัยวะต่าง ๆ คนจะได้รับเชื้อนี้โดยการรับประทานไข่พยาธิ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหรือที่ออกมากับอุจจาระ และพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่า โรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) ในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลาง โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน
ภาพนี้เป็นซีสต์ตัวอ่อนพยาธิตืดหมู Taenia solium ตีพิมพ์โดย Beda John Mwang’onde (2019) ในหมูอายุ 8 เดือน มีระยะติดต่อ cysticercus เต็มไปหมดที่กล้ามเนื้อหัวใจ (a) สมอง (b) และกล้ามเนื้อท้อง (c) เคสนี้กระจายไปหมด ถือว่ารุนแรงมาก จากเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
พยาธิตืดหมูเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
- ติดต่อผ่านทางอาหารและการปนเปื้อนในอาหาร เมื่อคนรับประทานอาหารที่ประกอบจากเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมู ซึ่งนำมาทำเป็นอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รับประทาน เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม เป็นต้น
- จากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและการรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผักสด ผลไม้สด ที่ล้างไม่สะอาด หรือที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจาระของคน หรือสัตว์เป็นปุ๋ย เป็นต้น
- จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนกินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร
- จากการที่ผู้ป่วยมีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้อยู่แล้ว และใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนักโดยไม่ทำความสะอาดมือ ไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป เมื่อนำมือมาจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ไข่พยาธิก็จะเข้าปากเกิดการติดเชื้อได้
อันตรายจากพยาธิตืดหมู
เมื่อคนกินไข่ของพยาธิตืดหมูที่ปนเปื้อนในอาหาร ผักสด ผลไม้ หรือน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไปเข้าไป ไข่พยาธิก็จะโตเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูในร่างกายคน หรือเกิดการขย้อนปล้องสุกของพยาธิตืดหมูที่อยู่ในลำไส้กลับขึ้นไปในกระเพาะอาหาร จะทำให้พยาธิตัวอ่อนในไข่ฟักตัวออกมาแล้วไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ไปเติบโตเป็นถุงน้ำ ตัวตืด ลักษณะแบบเดียวกับเม็ดสาคูในเนื้อหมู โดยกระจายไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ตา หัวใจ ตับปอด เนื้อเยื่ออื่น ๆ และกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หรือบางครั้งอาจคลำเป็นเม็ด ๆ ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการรุนแรง ภาวะที่มีตัวอ่อนเม็ดสาคูในร่างกาย เรียกว่า ซิสติเซอร์โคซิส (cysticercosis) อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เมื่ออยู่ในอวัยวะที่สำคัญ ๆ เช่น ในสมองและไขสันหลัง (neurocysticercosis) บางทีรุนแรงอาจถึงเสียชีวิตได้ หรือตาบอดเมื่ออยู่ในตา (ocular cysticercosis)
อาการเมื่อมีพยาธิตืดหมูในร่างกาย
- รู้สึกกินเก่งขึ้น เนื่องจากมีพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้คอยแย่งอาหาร
- หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด ร่างกายผอมลง
- มีอาการปวดท้อง ท้องอืด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อุจจาระบ่อย เนื่องจากมีการระคายเคืองต่อลำไส้
- อุจจาระออกมาพร้อมปล้องสุกของพยาธิ เป็นเส้นยาว ๆ แบน ๆ สีขาวอมเหลือง
- มีภาวะซีด
- อาจเกิดเป็นซีสต์ ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของซีสต์ เช่น ซีสต์อยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว แต่หากเกิดซีสต์ที่เนื้อเยื่อสมอง อาจไม่มีอาการหรือมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ชัก มือเท้าชา วิงเวียนศีรษะ เป็นลม หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้
หากรู้สึกมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์โดยทันที ในกรณีนี้ถ้าสังเกตเห็นพยาธิออกมาก็สามารถนำมาให้แพทย์ตรวจดูด้วย
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิตืดหมู
1.หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูหรืออาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ
2.สังเกตลักษณะของเนื้อหมูที่ซื้อมา หากพบว่ามีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมูไม่ควรรับประทานอย่างยิ่ง
3.ล้างผักผลไม้สดที่ซื้อให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัวตืดปะปนมาได้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีลักษณะของหัวที่อยู่ใต้ดิน
4.ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ ฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเอง และผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้
5.ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก และควรสอนลูกไม่ให้ติดนิสัยดูดนิ้วอมนิ้ว
6.การเตรียมอาหารหรือประกอบอาหารควรล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร
7.ถ่ายอุจจาระในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลองหรือบนพื้นดิน และไม่ใช้อุจจาระคนเป็นปุ๋ยรดต้นผักเพราะเป็นการทำให้ไข่พยาธิอยู่ในดินและหมูมากินเข้าไป กลายเป็นวงจรเกิดพยาธิตืดหมูได้
8.ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเห็นได้ว่า การเกิดพยาธิตืดหมูดูเหมือนเป็นโรคที่ไกลตัวแต่จริง ๆ แล้วอาจเกิดขึ้นใกล้ตัวต่อคนในครอบครัวได้ ดังนั้นการดูแลสุขอนามัยและโภชนาการที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการฝึกนิสัยให้ทุกคนได้ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน และใช้ช้อนกลาง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้นะคะ
ขอบคุณภาพจาก : PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.eent.co.th, www.siamhealth.net, www.mittraparphosp.com
อ่านต่อบทความดี ๆ น่าสนใจ คลิก!
เตือนภัย! ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ไม่ช่วยให้หาย…แถมเสี่ยงตายไม่รู้ตัว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่