ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย - Amarin Baby & Kids
ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก

ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย

Alternative Textaccount_circle
event
ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก
ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก

ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในอินเดียแล้วกว่า 100 ราย ในประเทศไทยควรจับตามอง และกังวลมากแค่ไหน ไปฟังคำตอบจากคุณหมอ และกรมควบคุมโรคกันดูก่อนตื่นตระหนกกันไปใหญ่

ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย!!

เมื่ออินเดียพบการระบาดของโรค ไข้หวัดมะเขือเทศ (tomato flu) ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่สังคมเฝ้าจับตามอง เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และพบการระบาดในเด็กเล็ก หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อในอินเดียเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 100 รายแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียเตือนประชาชนระวังการระบาดของโรค “ไข้หวัดมะเขือเทศ” (tomato flu) ที่พบในเด็กเล็ก หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 รายในอินเดีย

หนังสือพิมพ์ไทม์ส ออฟ อินเดีย รายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียที่ระบุว่า โรคดังกล่าวไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ได้ออกประกาศแนวทางการตรวจหาเชื้อและการป้องกันให้แก่ทุกรัฐแล้วในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนให้บรรดาผู้ปกครองเฝ้าจับตาดูอาการของบุตรหลานเป็นพิเศษ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ไข้หวัดมะเขือเทศเป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วซึ่งแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยลักษณะอาการต่าง ๆ ของโรค ได้แก่ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง มีไข้ มีภาวะขาดน้ำ ข้อบวม ปวดตามร่างกาย และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั่วไป รวมถึงมีตุ่มสีแดงคล้ายมะเขือเทศขึ้นตามตัว

นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาสาเหตุของโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บทความที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากเดอะ แลนเซต (The Lancet) วารสารการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า โรคดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (โควิด-19) แม้ว่าผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกันก็ตาม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com
ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในเด็กเล็ก ประเทศอินเดีย
ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในเด็กเล็ก ประเทศอินเดีย

ไม่ตื่นตระหนก… หากทำความรู้จัก โรคไข้หวัดมะเขือเทศ!!

ชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ มาจากอะไร??

หลาย ๆ คนฟังชื่อโรคแล้ว คงนึกสงสัยกันว่า โรคดังกล่าวที่กำลังเฝ้าระวังกันอยู่นี้ มีอะไรเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศหรือไม่ หรือบางคนอาจเข้าใจผิดจนทำให้มะเขือเทศสีแดง แสนอร่อยมากประโยชน์ กลายเป็นผู้ร้ายไปได้ โดยชื่อโรคไข้หวัดมะเขือเทศนี้ เรียกตาม ตุ่มน้ำที่เป็นอาการหนึ่งของโรค โดยตุ่มน้ำมีลักษณะคล้ายมะเขือเทศ (โรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด) จากการสันนิษฐานลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการเด็กที่ป่วยจะคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยได้ในเด็ก ไม่ใช่โรคติดเชื้อชนิดใหม่

ระดับความกังวลกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศเป็นอย่างไร??

เนื่องจากในปัจจุบันที่มีโรคระบาดที่ทำให้เกิดความวุ่นวายกับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลามานาน เช่น โรคจากไวรัสโควิด 19 โรคฝีดาษลิง เป็นต้น ทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนทุกคนในการติดตามข่าวสาร เฝ้าระวังโรคติดต่อชนิดใหม่ ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวการระบาดเป็นจำนวนมากของ ไข้หวัดมะเขือเทศในอินเดียจึงทำให้ต้องจับตามองว่า ทิศทางในการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นอย่างไร น่ากังวลหรือไม่

จากข้อมูลเบื้องต้นที่มี สามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด  ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และในปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ และในช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ความรุนแรงของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคที่ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยคน ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก จึงทำให้กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ  อาการจะไม่รุนแรงและหายเองได้ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย 

คุณหมอให้ข้อมูลเพื่อ…ทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศ 

ไข้หวัดมะเขือเทศ

มาจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsakie A16) ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อมาจากไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสไข้เลือดออกในบางรายด้วย พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือหยิบจับของเล่นเข้าปาก

ตุ่มแดงคล้ายมะเขือเทศ ที่มาขื่อ ไข้หวัดมะเขือเทศ
ตุ่มแดงคล้ายมะเขือเทศ ที่มาขื่อ ไข้หวัดมะเขือเทศ

อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

  • อาการปวดเมื่อยตามตัว
  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • มีผื่นลักษณะแดงเป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ และแผลพุพองขึ้นตามตัว สร้างความเจ็บปวดเวลาสัมผัส
  • บางรายจะมีอาการบวมตามข้อ

การรักษา

เนื่องจากยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต และสามารถหายเองได้ส่วนใหญ่จึงรักษาตามอาการทานยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทานอาหารอ่อนๆ และให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

โรคไข้หวัดมะเขือเทศ สามารถป้องกันได้ไหม??

การป้องกัน จะเหมือนกับโรคมือ เท้า ปาก สามารถป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง ให้ช่วยดูแลบุตรหลาน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยรอบ ๆ ตัวเด็ก ได้แก่

  • ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี
  • หมั่นทำความสะอาดของเล่น และพื้นผิวบริเวณโดยรอบสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
  • หากพบเห็นความผิดปกติ หรือมีอาการรุนแรงควรมาพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ปราณี สิตะโปสะ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อรพ.วิภาวดี

อ่านต่อ>> ไข้หวัดมะเขือเทศ แตกต่างกับโรคมือเท้าปาก อย่างไร คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up