ไข้หวัดมะเขือเทศ กับ โรคมือเท้าปาก
ไข้หวัดมะเขือเทศเกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsackie A16) เป็นเชื้อที่พ่อแม่รู้จักกันดี เพราะเป็นเชื้อตัวเดียวกับการเกิดโรคมือเท้าปาก ที่เด็กเล็กมักจะเป็นบ่อย ๆ แต่ความแตกต่างของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ กับโรคมือเท้าปากนั้น อยู่ตรงที่ มือเท้าปากเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายเชื้อ ซึ่ง ไวรัสคอกซากี A16 เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากเท่านั้น โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้จาก เชื้อไวรัสหลายตัว แต่เชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่ามาก หากเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก จึงน่าเป็นห่วงกว่า
แนะ 7 ขั้นตอนล้างมืออย่างถูกวิธี ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดมะเขือเทศ ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี
โรคมือเท้าปาก และโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อชนิดเดียวกัน ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสี่ยงป่วยเป็นโรค ส่ง อสม. แนะวิธีการล้างมืออย่างถูกต้อง 7 ขั้นตอน ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มักเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโรค พบปี 2560 มีเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก จำนวน 24005 ราย เสียชีวิต 2 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ป่วยสูงสุด
นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เกิดโรคติดต่อได้ง่าย ผ่านมือ หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนมากับน้ำมูก น้ำลาย โดยเฉพาะโรคมือเท้าปาก ที่มักเกิดกับเด็กเล็กที่ช่วงต่ำกว่า 5 ปี จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2560 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 19 มิถุนายน) พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ จันทบุรี ตราด เลย และพัทลุง ตามลำดับ
กรม สบส. ได้กำชับให้ อสม. ดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในชุมชน รวมทั้งมาตรการป้องกันในสถานศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนในระดับประถมศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน
- ควรจัดให้มีอ่างล้างมือ ประจำที่ศูนย์ โรงเรียน
- ความสะอาดของห้องน้ำ ต้องให้ถูกสุขลักษณะ
- ทำการกำจัดสิ่งปฎิกูลอย่างถูกต้อง อยู่เสมอ
- ปลูกฝังพฤติกรรมการดูแลร่างกายตามหลักสุขบัญญัติ
นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางปากโดยตรง ติดต่อโดยการไอ จาม น้ำลาย และน้ำมูก ทั้งนี้ผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยง ควรแนะนำลูกล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย หรือการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน ดังนี้ มีไข้ อ่อนเพลีย กลืนน้ำลายไม่ได้ และไม่ยอมรับประทานอาหาร มีตุ่มพองใสเล็กๆ ตามบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่จะพบที่เพดาน ลิ้น กระพุ้งแก้ม หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรแยกออกจากเด็กอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และรีบพาไปพบแพทย์ทันที พร้อมแนะข้อปฎิบัติให้ล้างมือให้ถูกต้องตามหลักปฎิบัต 7 ขั้นตอน
7 ขั้นตอนล้างมือที่ถูกต้องตามหลัก ในเด็กเล็ก
การสอนให้ลูก หรือเด็ก รู้จักวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ถูกวิธี และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และป้องกันการเกิดโรคได้หลากหลายโรคเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งไปเข้าใจกันว่า เด็กเล็กไม่สามารถสอน ให้ดูแลตัวเองได้ เชื่อเถอะว่าขั้นตอนการล้างมือที่ถูกวิธีนี้ ไม่ยุ่งยาก และเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคที่ง่ายที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเราอาจมีวิธีจูงใจ หรือช่วยให้เด็กเล็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วยการสอนให้เด็กล้างมือตามขั้นตอน พร้อมกับการร้องเพลงช้างไปด้วย เนื่องจากการล้างมือให้ถูกต้อง ต้องใช้เวลาล้างมือให้นานพอ มิใช่เพียงแค่ให้น้ำผ่านเท่านั้น
- เริ่มต้นฟอกสบู่ และล้างมือโดยใช้ฝ่ามือถูกัน
- ใช้ฝ่ามือถูหลังมือ และซอกนิ้ว
- ให้ฝ่ามือถูฝ่ามือ และนิ้วถูซอกนิ้ว
- หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
- ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบฝ่ามือ
- ปลายนิ้วถูขวางฝ่ามือ
- ถูรอบข้อมือ
โดยใน 7 ขั้นตอนนี้ให้ทำ 5 ครั้ง ในแต่ละขั้นตอน โดยสลับทำกันทั้ง 2 ข้าง เสร็จแล้วล้างให้สะอาด และควรปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดเป็นนิสัย ไม่ยากเลยใช่ไหม ลองทำกันดู รับรองลูกน้อยห่างไกลเชื้อโรค ไม่ทรมานจากการเจ็บป่วย และทำให้เขามีพัฒนาการที่สมบูรณ์ สมวัย ไม่มีสะดุด เสริมทักษะความฉลาดสุขภาพดีให้แก่ลูกได้ใช้ไปตลอดชีวิตอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.hfocus.org/https://health.kapook.com/https://hss.moph.go.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
enterovirus คือ เชื้อ โรคมือเท้าปาก ชนิดรุนแรงข่าวดีมีวัคซีนป้องกันแล้ว!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่