เมื่อลูกน้อยถึงวัยเข้าโรงเรียน หรือต้องเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็อดห่วงไม่ได้ เพราะการอยู่ร่วมกันเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราในปัจจุบันนั้นวนเวียนกันมาตลอดทั้งปี ทั้งหน้าร้อน ฝน และหนาว ไม่เคยขาด และในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไปนั้น มีโรคอะไรบ้างที่เด็กๆ เป็นกันมาก Amarin Baby & Kids ได้รวบรวม โรคเด็กยอดฮิต พร้อมวิธีป้องกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปาก โรคที่พ่อแม่ต่างพากันขยาด ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูก เพราะน่าสงสารมากๆ ทั้งเป็นไข้ เจ็บปาก นอนซม ทานอาหารก็ไม่ได้ ถ้าเจ็บแทนลูกได้ พ่อแม่ต่างก็ยอมที่จะเป็นโรคนี้เสียเอง
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กและพบได้ตลอดปีแต่พบมากในช่วงหน้าฝน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโรคมือเท้าปากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง
โรคมือเท้าปากคือ? สาเหตุเกิดจากอะไร?
โรคมือเท้าปากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสซึ่งมีหลายชนิด เด็กจะมีอาการไข้ เจ็บปาก มีผื่นเป็นลักษณะตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางครั้งอาจมีตามลำตัว แขน ขา และมีแผลในปาก โดยมีลักษณะเป็นแผลกลมเล็กๆ กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดาน ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ โดยส่วนใหญ่โรคมักไม่รุนแรง หายได้เอง และไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยไข้มักจะหายใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 7-10 วัน
แต่หากติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้บางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) อาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ! เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม แขนขาอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้อย่างไร?
- ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใสที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่
- ติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู
การรักษาโรคมือเท้าปาก
ยังไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ถ้ามีแผลในปากให้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปาก และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ควรให้เด็กดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล
(บทความแนะนำ โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ก็ติดลูกน้อยได้)
การป้องกัน โรคมือเท้าปาก
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ เด็กเล็กจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ การป้องกันสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม
- ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กจะต้องล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าและสบู่ ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย
- รวมทั้งให้เด็กล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และใช้ช้อนกลาง
- สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลต้องหมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วนํ้า หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ
- ควรเฝ้าระวังหากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ และให้เด็กหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ5 – 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่