รู้ให้เท่าทันช่วยป้องกัน ลูกเป็น โรคลมชัก
แพทย์หญิงปริญญรัตน์ บุรุษนุกูล กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยาอธิบายว่า อาการชัก เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสประสาทในสมอง ซึ่งมีผลทางร่างกาย และอาจมีผลต่อสภาวะการรู้สึกตัวร่วมด้วย สำหรับโรคลมชัก เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นกล่าวคือ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบาย หรือมีไข้
อันตรายจากการชัก
นายแพทย์ชาครินทร์ ณ บางช้าง กุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยาอธิบายว่า “กรณีที่ลูกเป็นลมชักนั้น หากเป็นกรณีปกติ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบว่าธรรมชาติของการชักโดยตัวมันเองแล้วมักไม่ค่อยมีอันตราย โดยอาจเกิดขึ้นและจบลงภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนมากแล้วอันตรายที่เกิดขึ้น มักเกิดจากคนรอบข้างที่พยายามให้การช่วยเหลืออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกายตามมามากกว่า”
“แม้การชักมักจะไม่เป็นอันตรายและอาจหายได้เอง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งย่อมเกิดผลกระทบต่อตัวเด็กและพัฒนาการทางการเรียนรู้และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เด็กที่ชักบ่อยๆ จะเริ่มถอยห่างจากเด็กที่ปกติกลายเป็นเด็กที่สติปัญญาช้า เรียนหนังสือไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าวสมาธิสั้นและมีปัญหาการเรียนตามมาเรื่อยๆ”
ลูกเป็นลมชัก เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
- ไข้สูง
- ระดับน้ำตาลและเกลือแร่ผิดปกติ
- การใช้ยาบางชนิด
- การอดนอน
- โรคทางพันธุกรรมที่มักมีอาการชักร่วมด้วย
- ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ การได้รับสารเสพติด การขาดอาหาร หรืออุบัติเหตุในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น
- การกระทบกระเทือนต่อสมองเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือการขาดออกซิเจน
- การติดเชื้อในสมอง อาทิ ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่นๆ มาสู่สมอง
วิธีการรับมือ ลูกเป็นลมชัก
- หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่า ลูกเป็นลมชัก จะต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ
- หลังจากนั้นปรับตัวลูกให้เอนราบลงกับพื้น ตะแคงตัวไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลัก พยายามนำตัวเด็กไปยังที่โล่ง ห่างไกลของมีคม เช่น มุมโต๊ะ หรือวัตถุมีคมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ และคลายเสื้อผ้าที่รัดๆ กันคนมุงออกไปห่างๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท
- หากพบว่าเด็กมีไข้ ให้พยายามเช็ดตัวลดไข้
- หากพบว่าร่างกายแข็งเกร็ง อย่าพยายามนวด ง้าง ดึง
- ห้ามนำสิ่งของยัดใส่ปากผู้ที่มีอาการชักเด็ดขาด นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังอาจก่อให้เกิดอันตรายในช่องปากเช่นฟันหักอุดหลอดลม สำลัก อาเจียน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- หากทำได้ ควรจับเวลา หรือถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับแพทย์
- เมื่ออาการชักจบลง อย่าละเลย ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
- เมื่ออาการชักนานเกิน 5 นาที หรือมีอาการชักแล้วหยุดแล้วชักอีก
หากคุณพ่อคุณแม่เห็นอาการบางอย่างของลูกที่ผิดปกติแต่ไม่มั่นใจว่าลูกเป็นลมชักหรือไม่ อย่ารอช้า รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที จะได้เข้ารับการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
ข้อมุลอ้างอิง: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่