วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง - Amarin Baby & Kids
วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง

Alternative Textaccount_circle
event
วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก
วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ช่วยป้องกัน และลดความสูญเสียแก่ลูกน้อย หากคุณกำลังลังเลว่าจะฉีดดีไหม มาฟังคุณหมอจากคณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่แนะให้เข้าใจ หายห่วงชัวร์

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง!!

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความต่อเนื่อง และยาวนานอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่พบการระบาดในกลุ่มเด็กเพิ่มมากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา และที่น่ากังวล คือ เป็นผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยลง โดยมีอายุประมาณช่วงวัยเรียน 6-12 ปี เยอะขึ้น

โอไมครอนกับเด็ก : ปัจจัยการแพร่เชื้อในเด็ก

เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์เดลต้า เจอผู้ป่วยเด็กประมาณ 14% แต่พอเป็นสายพันธุ์โอไมครอน จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ของทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยเด็กติดโควิด-19 ประมาณ 21.5% ซึ่งนับว่าเยอะขึ้นอย่างชัดเจน

ปัจจัยการแพร่เชื้อในเด็ก

โอไมครอน โควิด-19 วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก
โอไมครอน โควิด-19 วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

1.เชื้อโอไมครอนสามารถแพร่กระจายได้ง่าย

หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ซึ่ง WHO หรือองค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) สายพันธุ์ใหม่ล่าสุด โดยมีรหัสที่เรียกว่า โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ถูกรายงานว่าพบครั้งแรก ในตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใต้ ที่ประเทศบอตสวานา

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนโปรตีนหนามแหลม หรือที่เรียกว่า Spike Protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ ซึ่งพบมากกว่าทุกสายพันธุ์ และมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ถึง 2 เท่า และพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งดังกล่าว สิ่งที่น่ากังวลก็คือ

  • ทำให้เชื่อกันว่าไวรัสจะสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา
  • สามารถเข้าสู่ระบบร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
  • อาจจะหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
  • มีแนวโน้มต้านประสิทธิภาพวัคซีน
  • คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้จากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน

    โอไมครอน เด็กมักติดจากคนในครอบครัว
    โอไมครอน เด็กมักติดจากคนในครอบครัว

อาการของโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน

  • อาจมีอาการไม่สบายแค่ 1-2 วัน

  • จมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี

  • ไม่ค่อยมีไข้

  • รู้สึกล้า และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

  • มีอาการไอเล็กน้อย ระคายคอ

  • อาการยังไม่ชัดเท่าสายพันธุ์อื่น

  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หากติดเชื้ออาจทำให้มีอาการรุนแรง

  • อาการโดยรวม เบื้องต้นพบว่าไม่รุนแรง สามารถรักษาที่บ้านได้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.วิชัยเวช

2. การระบาดเกิดในโรงเรียน 

ในช่วงของการระบาดของโอไมครอน สถานศึกษาได้มีการเปิดเรียนแบบ Onsite แล้ว ทำให้มีการติดจากคุณครู เพื่อน ในชั้นเรียน

3. ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 

จากปัจจัยทั้งสามส่วนนี้ จึงทำให้มีการระบาดในเด็กที่มากขึ้นได้ ซึ่งในปัจจัยข้อสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก นั้น เราทราบกันดีว่าคุณพ่อคุณแม่มีความห่วงกังวลต่ออาการข้างเคียง และผลกระทบต่อลูก หากต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน เกิดข้อคำถามขึ้นมากมาย เป็นต้นว่า ควรรับวัคซีนชนิดใด แบบไหน หรือควรให้ลูกฉีดวัคซีนดีหรือไม่ และอีกนานาสารพันคำถามในใจ วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ได้ขอทำการเผยแพร่คลิปความรู้ดี ๆ จากทางคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วงโดย…รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เพื่อให้ความรู้ดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่อีกแรง

 

ขอขอบคุณ คลิปดี ๆ จาก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความจำเป็นของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก

ถึงแม้ว่า ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ มีอัตราการเสี่ยงชีวิตต่ำกว่า หรือบางคนไม่มีอาการแสดงเลย แต่การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กสามารถมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจเกิดการเสียชีวิตได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ภาวะหลัก คือ

ภาวะแรก : ภาวะกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่สัมพันธ์กับโรคโควิด-19 ในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) หรือที่ย่อกันว่า MIS-C

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามหลังจากที่มีอาการป่วยประมาณ 2-6 สัปดาห์ เกิดขึ้นจากที่ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 ที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการอักเสบ กับภาวะหลายระบบในร่างกาย

อาการของการเกิดภาวะ MIS-C

  • ไข้
  • ผื่นตามร่างกาย
  • ตา ปาก มีอาการแดง
  • อาการอักเสบของระบบหัวใจ หลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะที่สอง : Long-Covid เป็นอาการแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง ระยะยาว ซึ่งนอกจากในเด็กแล้ว ก็จะพบได้ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุเช่นกัน

เป็นภาวะหลังจากที่หายจากโควิดไปแล้วประมาณ 3 เดือนขึ้นไป แล้วก็มีอาการต่อเนื่อง ติดต่อกัน เรื้อรัง นานเกิน 2 เดือนขึ้นไป  ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบทั่วร่างกาย

โควิดในเด็กแม้อาการไม่รุนแรง แต่อาการหลังหายแล้วรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โควิดในเด็กแม้อาการไม่รุนแรง แต่อาการหลังหายแล้วรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทย

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก สำหรับเด็กวัย 5 – 11.9 ปี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และรับรองให้ใช้โดยสำนักงานอาหารและยา มี 2 ชนิด ได้แก่

1. วัคซีนเชื้อเป็น mRNA ที่ใช้ในไทย คือ วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม (Pfizer) มีปริมาณโดส 10 ไมโครกรัม ต่อโดส

2. วัคซีนเชื้อตาย ซึ่งอนุญาตให้ใช้ในเด็ก 6 ปีขึ้นไป ในไทยมีด้วยกัน 2 ตัว คือ ซิโนแวค (Sinavac) ปริมาณ 3 ไมโครกรัมต่อโดส กับ ซิโนฟาร์ม(Sinopharm) ปริมาณ 4 ไมโครกรัมต่อโดส ซึ่งเป็นปริมาณที่ให้เท่ากับในผู้ใหญ่เลย

ควรฉีดแบบไหนดี??

คุณหมอแนะนำสูตรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก

  • วัคซีนสูตรหลัก หรือสูตรปฐมภูมิ แนะนำให้เป็น mRNA ไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์
  • วัคซีนสูตรทางเลือก สำหรับผู้ที่กังวลวัคซีน mRNA สองเข็ม ก็แนะนำให้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือ Sv /Sp + Pfizer ห่างกัน 4 สัปดาห์ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งคู่ เนื่องจากวัคซีนเชื้อตาย สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุดั้งเดิมได้ดี แต่ในสายพันธุ์โอไมครอนอาจจะได้ภูมิคุ้มกัน ที่ไม่ดีมากพอ

7 เด็กโรคกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีน เป็นกลุ่มแรก

  1. กลุ่มเด็กที่มีภาวะอ้วน
  2. โรคเบาหวาน
  3. โรคหัวใจ และหลอดเลือด
  4. โรคปอด มีอาการหอบหืดที่มีอาการรุนแรง
  5. โรคไตเรื้อรัง
  6. โรคมะเร็ง
  7. เด็กที่มีพัฒนาการช้า โรคทางพันธุกรรม และระบบประสาทผิดปกติอย่างรุนแรง

ติดโควิดไปแล้วยังต้องรับวัคซีนอีกไหม??

กรณีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย แนะนำ ให้ฉีดmRNA ไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม โดยเริ่มเข็มแรกให้ฉีดหลังจากเริ่มมีอาการป่วย หรือมีการติดเชื้อ ตรวจพบเชื้อไปแล้ว 12 สัปดาห์ (3 เดือน) แล้วฉีดเข็มที่สองห่างไป 8 สัปดาห์

กรณีที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม แนะนำ ให้ฉีดเพิ่ม 1 เข็มหลังพบเชื้อ หรือมีอาการป่วย 12 สัปดาห์

กรณีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วติดเชื้อโควิด-19 ณ ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ฉีดเข็มที่ 3 เพิ่ม

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก อันตรายไหม
วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก อันตรายไหม

หลังฉีดวัคซีนควรสังเกตอาการผิดปกติของลูก อย่างไรบ้าง?

ในช่วง 1-4 วันแรกหลังจากได้รับวัคซีน ถ้าลูกมีอาการดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมีรายงานจากต่างประเทศว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ของการฉีดวัคซีนที่รุนแรง แต่พบได้น้อยมาก จึงควรให้สังเกตอาการหากพบให้รีบหาหมอ ดังนี้

  • เจ็บอก
  • เหนื่อยหอบง่าย
  • เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่พบได้แต่ไม่มีอันตรายรุนแรง สามารถหายได้เอง ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด ไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

เมื่อฟังกันมาจนถึงจุดนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่เริ่มหายห่วงกันบ้างหรือยัง เพราะการป้องกันลูกจากไวรัสโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากการป้องกันระวังตัวเอง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง แล้ว การพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ก็เป็นอีกทางที่ได้ผลดีที่สุดแล้ว การได้รับรู้ข้อมูลรอบด้านจากคุณหมอ คงทำให้หายกังวลกันไปได้บ้าง หากพ่อแม่เริ่มหายห่วงและต้องการให้ลูกได้รับวัคซีนก็สามารถติดต่อกับโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่ลูกเรียนอยู่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการให้วัคซีนแก่เด็กผ่านทางโรงเรียน โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เมื่อคุณและลูก ติดโควิด ทำยังไง ? เปิดขั้นตอนการรักษาที่นี่

โอไมครอน (Omicron)ในเด็กมีสิทธิ์ติดเชื้อรุนแรงแค่ไหน?

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ รับยาที่ไหน ลูกควรกินเท่าไหร่?

ตั้งชื่อลูกมงคล 333 ชื่อที่แปลว่าทรัพย์สมบัติ ตั้งแล้วลูกร่ำรวยเงินทอง เรียกโชคให้พ่อแม่

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up