เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 นายกฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทั้ง 4 จังหวัด โดยระบุว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 19 สิงหาคม 2559 ในเว็บไซต์ว่า ไวรัสซิกาในประเทศไทยอยู่ในระดับสีแดง มีการแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จึงสั่งการให้ป้องกัน และแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ และเข้าใจ ไม่ตื่นตระหนก และสิ่งสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ถ้าเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ ระยะฟักตัว 3-12 วัน โดยสังเกตอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อ เช่น มีไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
2.ให้จังหวัดประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และส่งให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์ปฏิบัติควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิการะดับอำเภอ ให้มีองค์กรส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์เครื่องพ่นหมอกควัน และดำเนินการทุกหมู่บ้าน
3.ให้จังหวัดแจ้งศูนย์ฯ ระดับอำเภอ บูรณาการร่วมกับท้องถิ่น เช่น สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานพยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข นักพัฒนาชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือชุมชน
4.ให้จังหวัดติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนควบคุมยุงลายในบ้านของตัวเอง และสังเกตอาการไวรัสซิกา อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งเป็นอาการที่หายได้เองใน 2-7 วัน แต่จะมีปัญหากับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกน้อยศีรษะเล็ก หรือถ้าติดเชื้อ เช่น
- คุณแม่ที่ติดเชื้อหัดเยอรมัน ลูกน้อยที่เกิดมาอาจมีความพิการ ตาบอด หัวใจพิการ
- คุณแม่ที่ติดเชื้อไข้ขี้แมว ลูกน้อยที่เกิดมาอาจมีความพิการทางสมอง
คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษมากกว่าคนปกติ ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย สุนัข และแมวจรจัด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และฝากครรภ์ตามกำหนด
เครดิต: สำนักข่าวอิศรา, มติชนออนไลน์, บีบีซีไทย, อาร์วายทีไนน์
อ่านเพิ่มเติม คลิก!
พบเด็กป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา ที่จ.เชียงใหม่ ออกประกาศเป็นเขตพื้นที่คุมโรค 28 วัน