โรคบิด โรคทางเดินอาหารที่ทำให้เด็กปวดท้องบิดอย่างรุนแรง เด็กจะทรมานกับอาการปวดท้องเป็นอย่างมาก พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน มาดูสาเหตุและวิธีการป้องกัน กันเถอะ!
เมื่อลูกปวดท้องจาก “โรคบิด” ภัยร้ายหน้าร้อนที่ต้องระวัง!!
ในช่วงหน้าร้อน โรคที่มักจะพบได้บ่อยในเด็กคือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เด็กมักจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว แต่อาการที่สุดทรมานใจพ่อแม่และตัวลูก คือ อาการปวดท้องบิด (อาการปวดเกร็งในท้อง ปวดท้องบิดอย่างรุนแรงเป็นระยะ ๆ) ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดท้องในเด็ก สามารถพบได้บ่อย ๆ แต่อาการปวดท้องจากโรคบิดนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตและแยกไม่ได้ว่าเป็นการปวดท้องจากโรคบิดหรือไม่ อาจทำให้รักษาได้ไม่ทันการจนอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ดังนั้น มาทำความรู้จัก โรคบิด รวมถึงสาเหตุ วิธีการรักษา และการป้องกันกันเถอะ!!
โรคบิด คืออะไร?
โรคบิดเป็นอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดบิดท้องเป็นระยะ ร่วมกับการ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ในเด็กอาจพบอาการชักร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่อาการชัดเจนจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีขนาดเล็ก ๆ ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปโรคบิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคบิดชนิดไม่มีตัว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มซิเกลลา (Shigella) สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี และโรคบิดชนิดมีตัว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว (โปรโตซัว) ที่ชื่อว่า อะมีบา (Ameba) มักพบการติดเชื้อได้ในพื้นที่ร้อนชื้น
ติดต่อกันได้อย่างไร?
โรคบิด สามารถติดต่อกันได้ผ่านเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยเมื่อเชื้อปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ไม่เพียงเท่านั้นแมลงวันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อีกด้วย ขณะที่ผู้ป่วยที่มีเชื้อของโรคบิดสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อย ๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์
วิธีสังเกตว่าลูกป่วยเป็นโรคบิดหรือไม่?
เนื่องจากโรคบิดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ โรคบิดชนิดไม่มีตัว และโรคบิดชนิดมีตัว อาการของโรคบิดทั้ง 2 ชนิดนี้ก็แตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
อาการของบิดไม่มีตัว
- ไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่จะรู้สึกไม่สบายท้อง เพราะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในลำไส้
- มีอาการน้อย ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด และปวดบิดแต่ไม่มาก
- กรณีที่มีอาการรุนแรง จะปวดท้องบิดอย่างรุนแรง มีไข้สูง อาเจียน ถ่ายมีมูกเลือดและหนองปน ถ่ายน้อยแต่บ่อยมาก ถ้าร่างกายอ่อนแอ อาจจะมีการช็อคได้
- อาจเกิดโรคแทรกซ้อน หากรักษาไม่ถูกวิธี เชื้อโรคเข้าไปยังกระแสเลือด ทำให้เลือดเป็นพิษ อาจช็อคจนเสียชีวิตได้ ลำไส้ใหญ่อาจมีการอักเสบอย่างรุนแรง เกิดอาการเสียน้ำอย่างมากจนช็อคและเสียชีวิตได้
อาการของบิดมีตัว
- ไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่จะรู้สึกไม่สบายท้อง ถ้าไปตรวจจะพบอะมีบา Entamoeba histolytica ในอุจจาระ
- มีอาการชนิดเฉียบพลัน ปวดบิด ถ่ายอุจจาระเหลว อุจจาระมีกลิ่นคล้ายหัวกุ้งเน่า อาการไม่แรงเท่าบิดไม่มีตัว ถ้าผู้ป่วยต้านทานโรคได้น้อย อาจจะมีไข้สูงและถ่ายเป็นมูกเลือดมาก
- ในกรณีที่มีอาการชนิดเรื้อรัง เป็นผลจากบิดชนิดเฉียบพลัน แล้วรับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อะมีบาจึงตายไม่หมด ทำให้อาการไม่หายขาด และเป็นไปเรื่อย ๆ
- อาจเกิดโรคแทรกซ้อน ลำไส้เกิดการทะลุ เกิดแผลที่ลำไส้ใหญ่ ตัวอะมีบาจะเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อในอวัยวะถูกทำลาย หรือก่อให้เกิดฝีที่อวัยวะต่าง ๆ และนำไปสู่อาการติดเชื้อ หรืออาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้
เพราะเด็กยังอธิบายได้ไม่ละเอียดว่าปวดท้องลักษณะไหน คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตที่อาการท้องเสียด้วยการนับจำนวนครั้งที่ถ่าย หากเริ่มถ่ายติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้งก็เข้าข่ายว่าท้องเสีย และอาการท้องเสียจากโรคบิดจะรุนแรงกว่าท้องเสียทั่วไป เพราะจะมีอาการอุจจาระเป็นน้ำ มีมูกหรือมูกเลือดปนออกมากับอุจจาระ ร่วมกับอาการปวดเกร็ง ปวดบีบที่ท้องเป็นพัก ๆ ปวดหน่วงที่ทวารหนัก และหากลูกมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อทันที
- คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย
- มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือชัก
- ปวดท้องมาก
- ถ่ายเหลวหลายครั้ง (มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน)
- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด
- ท้องอืด
- หอบลึก
- ไม่ยอมดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกชนิดและ/หรือไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
- ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้วแต่เด็กยังดูเพลีย ซึม
การรักษาโรคบิด
โรคบิดสามารถรักษาให้หายได้ และหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลง ซึ่งการรักษาจะคำนึงถึงชนิดของโรคบิดและความรุนแรงของอาการ โดย โรคบิดชนิดไม่มีตัว หากอาการไม่รุนแรงและผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีอยู่แล้ว การรักษาจะเน้นไปที่การรักษาภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากการท้องเสียเท่านั้น การใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็ว แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพราะยาดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาของอาการ และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายหรือส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่อย่างไร?
สารละลายน้ำตาลเกลือแร่มีจำหน่ายทั่วไปทั้งที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทต่าง ๆ โดยทั่วไปจะผสม 1 ซองต่อน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้วน้ำหรือ 1 ขวดนม 8 ออนซ์ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ซื้อสาลละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก็สามารถเตรียมเองได้ง่าย ๆ โดยใช้น้ำข้าวใส่เกลือเล็กน้อย (ประมาณ 2 หยิบนิ้วมือต่อน้ำข้าว 8 ออนซ์หรือ 1 แก้ว) หรือ อาจผสมเองโดยใช้น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะและเกลือป่น 2 หยิบนิ้วมือใส่น้ำต้มสุก 1 แก้วน้ำ น้ำซุบ, น้ำแกงจืด, น้ำผลไม้ต่าง ๆ, น้ำเต้าหู้, น้ำชา, โจ๊กไก่ ก็เป็นอาหารเหลวที่สามารถนำมาให้เด็กที่มีปัญหาท้องเสียได้
วิธีการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ควรใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อยเพื่อช่วยลดปัญหาการอาเจียน การปฏิเสธการกินและยังช่วยให้ดูดซึมได้ดีกว่าการให้ดูดจากขวด รวมทั้งการดูดในปริมาณมากอาจดูดซึมไม่ทันและถ่ายเป็นสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ทำให้เข้าใจผิดว่ายิ่งกินยิ่งถ่าย ในเด็กโต อาจให้จิบจากแก้วทีละน้อยบ่อย ๆ
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ครั้งละ 2-3 ออนซ์ (1/4-1/2 แก้วน้ำ), ทุกครั้งที่ถ่ายเป็นน้ำ
- 2-10 ปี ครั้งละ ½-1 แก้วน้ำ (3-6 หรือ 8 ออนซ์)
- 10 ปีขึ้นไปปริมาณมากเท่าที่ดื่มได้
สำหรับโรคบิดชนิดมีตัว จะเน้นที่การใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากอะบีมาไม่สามารถออกไปจากร่างกายของเราได้หมด และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้แม้จะไม่มีอาการของโรคบิดก็ตาม
แพทย์แนะ! 8 วิธีป้องกันโรคบิด
- การล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนการปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผ่านเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบ ๆ และไม่รับประทานน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
- รับประทานอาหารปรุงสุกในขณะที่ยังร้อนอยู่ หากซื้ออาหารบรรจุสำเร็จควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนการรับประทานทุกครั้ง
- เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักและผลไม้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง (อ่านต่อ 16 วิธีล้างผักผลไม้ ให้ปลอดสารก่อนให้ลูกทาน)
- เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลงวัน หนู หรือสัตว์อื่น ๆ
- ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรค
- ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลองหรือตามพื้นดิน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
- ทิ้งขยะในถังขยะที่มีฝาปิด และกำจัดขยะอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่าการล้างมือให้สะอาดก็ยังเป็นวิธีที่ป้องกันโรคที่ดีที่สุดใน โรคบิด และอีกหลาย ๆ โรค เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเน้นย้ำให้ลูก ๆ คอยล้างมือบ่อย ๆ นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่โพสต์เตือน! สาเหตุที่ทำให้ ทารกท้องเสีย เป็นโรคลําไส้อักเสบ
รีวิวดี!เพื่อลูกน้อย เทียบสารอาหารในนมวัวแท้ 100% ยี่ห้อไหนดี มีประโยชน์ที่สุด!
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, pobpad.com, th.wikipedia.org, ผศ.พญ.นิยะดา วิทยาศัย งานโรคระบบทางเดินอาหารและตับ กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่