คนไทยนิยมจะผูกสายสิญจน์ให้ลูกน้อยเพราะเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองลูก แต่ในบางบ้านก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เพราะเด็กน้อยนำ หนังยาง ไปรัดข้อมือ จนมือบวมและเป็นแผล เช่นอุทาหรณ์นี้!!
อุทาหรณ์!! ลูกหวิดมือเน่าเพราะ หนังยาง เหตุสายสิญจน์บัง
ทีมแม่ ABK ขอนำเรื่องราวจากคุณแม่ Mhai Kiatpramarn คุณแม่ของน้องเก้า ลูกชายวัย 2 ขวบ ที่ได้ผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือให้ลูก โดยคุณแม่คิดว่าสายสิญจน์และ หนังยาง มัดผมที่ดูจะไม่มีพิษ ไม่มีภัยอะไร แต่เพราะไม่ทันสังเกตุว่าลูกน้อยได้นำหนังยางที่เก็บได้ตามพื้นไปรัดใส่ข้อมือไว้ แล้วสายสิญจน์ก็บดบังไว้มองไม่เห็นอะไรเลย ลูกก็ไม่ได้แสดงอาการว่าเจ็บออกมาด้วย แถมยังไม่มีอาการอะไรออกมาเลย แม้แต่อาบน้ำถูสบู่ ลูกก็ไม่ได้ร้องเจ็บ จนวันหนึ่ง คุณแม่ได้สังเกตเห็นว่ามือของลูกบวมผิดปกติ จึงเปิดสายสิญจน์ออกมาดู กลับพบว่า มี หนังยาง รัดผมรัดอยู่ที่ข้อมือลูก ซึ่งรัดแน่นเข้าไปในเนื้อ คุณแม่จึงรีบเอา หนังยาง ออก และล้างแผล ทายา คุณแม่จึงโพสต์ลงเฟสบุ๊คเพื่อเตือนให้แม่ ๆ ท่านอื่นได้คอยระวังและสังเกต เพราะข้อมือของเด็กจะเป็นปล้อง ๆ อยู่แล้ว ทำให้ดูได้ยาก อีกทั้งมีสายสิญจน์พัน ๆ ที่ข้อมือ ทำให้สังเกตได้ยาก
อุทาหรณ์เตือนตัวเองและทุกคน
มันเกิดจากยางรัดผมค่ะ สายสิญจน์มันบังเลยไม่เห็นรูปแรกคือสายสิญจน์และยางมัดผมที่ดูไม่มีพิษมีภัย แต่…มันรัดข้อมือลูกเรามาตลอดไม่ได้เอะใจอะไร เพราะลูกไม่มีอาการอะไรเลย อาบน้ำถูสบู่ได้ปกติไม่ร้องจนเมื่อวาน แม่นกได้สังเกตเห็นว่ามันบวมเลยได้เปิดดู ตามรูปคือ ยางมัดผมรัดข้อมือเก้า (ลูกชาย) รัดจนแน่นเข้าไปในเนื้อ แม่นกรีบเอาออก ล้างแผลและทายาแล้วก็ขึ้นไปเรียกเรา (ตอนนั้นเราขึ้นไปนอนเลยฝากแม่ไว้)ลงมาก็ตกใจ รู้สึกผิดมากๆที่ไม่ได้สังเกตลูกเลย ชะล่าใจเอง เพราะข้อมือเก้าจะเป็นปล้องๆตามประสาเด็กอวบและดันมีสายสิญจน์พันๆข้อมือไปอีกโทษตัวเองอย่างเดียว โทษใครไม่ได้เลย โทษความสะเพร่าของตัวเอง ตอนนี้ได้แต่ขอให้ลูกหายเร็วๆขอบคุณแม่นกที่สังเกตเห็นว่าข้อมือผิดปกติขอบคุณลุงนาทที่ล้างแผล ทายา ซื้อยาให้เก้าค่ะที่ผ่านมาเก้าร่าเริงปกติ ไม่เคยร้องหรือเจ็บบริเวณข้อมือเลย เก้าแข็งแรงและทนมากหายเร็วๆนะลูก.รัก
แม่ไหม
“ของเล่นเด็ก” และหลากอันตรายที่พ่อแม่คาดไม่ถึง
แต่ของเล่นที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันก็มีอันตรายแอบแฝงอยู่ในตัวด้วยเช่นกัน โดยในแต่ละปีมีเด็กบาดเจ็บจากของเล่นที่ต้องมารับการตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินต่าง ๆ รวมกว่า 72,000 ราย มาดูกันว่าของเล่นเด็กชนิดต่าง ๆ มีอันตรายอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง
ของเล่นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ของที่มีชิ้นส่วนเล็กกว่า 3.2 x 6 ซม. เป็นส่วนประกอบ จะมีโอกาสทําให้สําลักอุดตันทางเดินหายใจได้มาก เช่น ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็ก ๆ ที่มักมาในรูปของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ขวัญใจเด็ก ๆ ควรระวัง..ส่วนหัวของตุ๊กตุ่นฮีโร่แมนทั้งหลาย กระทั่งแท่งลิปสติกของตุ๊กตาผู้หญิง เด็กเล็กเห็นเข้าก็มักเอาเข้าปาก เคี้ยว ๆ อม ๆ แล้วในที่สุดก็ติดคอ ติดหลอดลมจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นของเล่นของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ซึ่งชอบเอาของเข้าปาก ต้องไม่เป็นชิ้นเล็กน้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 3.2 ซม. ถ้าเล็กกว่านี้ต้องยาวกว่า 6 ซม.
ของเล่นที่มีสายยาวกว่า 22 ซม.
เพราะอาจทำให้สายขดเป็นวงและรัดคอเด็กได้ เช่น สายโทรศัพท์ กีตาร์ รถลาก หรือของเล่นที่มีช่องรู ก็มักทําให้นิ้วติด มือติด หัวติดได้ เช่น ของเล่นชุดปราสาท คฤหาสน์ ชุดครัว
ลูกกระสุนที่แรงกว่า .08 จุล
เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก หากโดนลูกนัยน์ตาก็อาจมีอันตรายถึงขั้นตาบอด จึงห้ามให้ลูกเล่นปืนอัดลม หรือปืนลูกดอกทุกชนิดที่กระสุนไม่อ่อนนิ่ม
ของเล่นที่แหลม ๆ คม ๆ
เช่น รถเด็กเล่นที่ท้ายแหลม ลูกข่าง หุ่นยนต์ที่มีส่วนหัวแหลม ๆ จรวดพลาสติกหรือโลหะที่มีทรงแหลม ๆ คม ๆ
ของเล่นที่ติดไฟง่ายแล้วเอามาสวมหัวสวมตัว
เช่น ชุดแต่งตัวต่าง ๆ ไอ้มดแดงบ้าง สไปเดอร์แมนบ้าง ทั้งผ้าทั้งวัสดุที่ใช้บุให้มีรูปทรง ต้องผ่านการทดสอบการต้านการติดไฟมาก่อน
ของเล่นที่มีเสียงดัง
หากเสียงดังเกินกว่าความปลอดภัยของเด็ก (เกินกว่า 110 เดซิเบล เมื่อดังครั้งเดียวไม่เกิน 1 วินาทีหรือ ไม่เกิน 80 เดซิเบลเมื่อเป็นการดังต่อเนื่อง) เรื่องนี้ต้องพึงระวังให้มาก เพราะมันอาจทําลายเซลล์ประสาทการรับเสียงของลูก ๆ ได้ โดยเฉพาะของเล่นใช้ไฟฟ้า รถไฟปู๊น ๆ ปืนกล ปืนเลเซอร์ที่กดแล้วมีเสียงดัง
ของเล่นที่เคลื่อนที่เร็ว
เช่น รถหัดเดิน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่วางขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก ส่วนใหญ่แล้วมักใช้กับเด็กอายุ 5-6 เดือน เด็กที่อยู่ในรถหัดเดินนานหลายชั่วโมงต่อวันเมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลง ทําให้ขาเกร็งมากกว่าปกติ ในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คน พบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจําจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ แต่ที่เป็นผลเสียมากกว่านั้นคืออันตรายจากอุบัติเหตุ จากการวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดิน การบาดเจ็บรุนแรงมักเกิดจากการพลัดตกจากที่สูง พื้นต่างระดับ และบ้านที่มีมากกว่าหนึ่งชั้น ในประเทศแคนาดาได้มีการห้ามขายไปตั้งแต่ปี 1992 เช่นเดียวกันกับในประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาซึงได้มีการห้ามขายในบางรัฐ
ของเล่นทารก
เช่น กุ๊งกิ๊ง มีหลายแบบทั้งแบบวงกลม วงแหวน มีด้ามถือ หรือเป็นเส้นสายยาวที่ใช้ผูกเปลนอนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การอุดตันทางเดินหายใจ กุ๊งกิ๊งที่ถูกออกแบบมาไม่ถูกต้องมีชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือถูกผลิตโดยวัสดุที่มีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอ เกิดการแตกหักง่ายกลายเป็นวัสดุชิ้นเล็ก ๆ ได้ ซึ่งเมื่อเด็กนําเข้าปากจะเกิดการสําลักและอุดตันหลอดลมได้โดยง่าย วัสดุที่มีขนาดเล็กกว่า 3.2 ซม. และมีความยาวสั้นกว่า 6 ซม. เมื่อเด็กนําเข้าปากและสําลักสามารถก่อให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้ การอุดตันทางเดินหายใจจะทําให้สมองขาดออกซิเจนอย่างกะทันหัน ซึ่งมีเวลาเพียง 4-5 นาทีที่สมองจะคงทนอยู่ได้ ถ้านานกว่านี้จะเกิดภาวะสมองตายทําให้ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่ปกติได้ นอกจากนั้นการอาเจียนและสําลักอาหารที่กินเข้าไปออกมา และอาหารนั้นถูกสําลักเข้าหลอดลมอีกที ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ กุ๊งกิ๊งที่เป็นด้ามยาวเพื่อให้เด็กกําถือเขย่า ถ้าปลายด้ามมีขนาดเล็กในขนาดที่เด็กเอาเข้าปากได้ จะสามารถแทงรบกวนคอเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในท่านอนราบ
จากอุทาหรณ์ หนังยาง รัดข้อมือลูกเพราะสายสิญจน์บัง และอันตรายจากของเล่นต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าของบางอย่างที่ดูไม่มีพิษไม่มีภัย ก็อาจจะทำอันตรายให้กับลูกน้อยได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือควรสังเกตุลูกน้อยอยู่ตลอดเวลา และสิ่งของบางอย่างที่อาจจะดูเป็นอันตรายกับลูกน้อยได้ ก็ควรเก็บให้เข้าที่เข้าทาง เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟสบุ๊คคุณแม่ Mhai Kiatpramarn, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล