ลูกถูกไฟช็อต เพราะใส่สร้อยข้อมือ ตกเข้าไปในรูปลั๊กไฟ - amarinbabyandkids

ระวัง! ลูกถูกไฟช็อต เพราะสายสร้อยข้อมือที่ใส่ แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ

event

ลูกถูกไฟช็อต

จากการวิจัยพบว่า เด็กที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ  และกลุ่มเด็กโต คือ 10-14 ปี โดยในเด็กเล็กมักจะเกิดจากการเอานิ้วหรือไปหยิบเอาของที่ตกตามพื้น เช่น กิ๊บติดผม ไม้แคะหู ตะปู แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ หรือปลั๊กไฟสามตาที่เสียบไฟไว้ หรือไม่ก็คว้าสายไฟ (ที่เสียบไฟอยู่) ไปเคี้ยวเล่นด้วยความมันเขี้ยว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไว้ก่อนโดยการ

  1. หาซื้อตัวครอบปลั๊กไฟหรือแผ่นเสียบรูปลั๊กไฟมาปิดรูปลั๊กที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านหรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหาเทปพันสายไฟมาแปะปิดไว้ก่อนก็ได้
  2. ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นราว 1.5 เมตร เพื่อกันการเล่น การแหย่ของเด็กเล็ก
  3. ควรสำรวจอยู่เสมอ ว่ามีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่ห้อยโตงเตงลงมาจากโต๊ะ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่วางแหมะอยู่ที่พื้น พร้อมที่จะให้เด็กเล็กกระชากสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตกใส่หัว (ยิ่งถ้าเป็นกาน้ำร้อนก็ยิ่งอันตราย) แม้แต่การจับสายไฟมาเคี้ยวเล่น ก็เสี่ยงต่อการไฟรั่วไฟดูดเป็นอย่างยิ่งดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้งานเสร็จแล้วจะต้องม้วนไฟให้ดีพร้อมเก็บเครื่องให้เข้าที่และให้พ้นมือเด็กทุกครั้ง
  4. การเสียบปลั๊กที่ไม่แน่น ไม่มิด หรือคาไว้นานๆ จนเหล็กเสียบเลื่อนออกมาก็เสี่ยงอันตรายได้เช่นกัน เพราะอาจทำให้ไฟสปาร์คขึ้นหรือเกิดประกายไฟที่หัวปลั๊กแล้วก็ยังเสี่ยงต่อการที่เจ้าน้องเล็กจะไปจับเล่นเข้าจนไฟดูด
  5. หากบ้านใดใช้ปลั๊ก 3 ตา เพื่อกันเด็กเล็กจับต้องหรือเล่นซนจนได้รับอันตรายจึงควรไว้ในที่สูง และขอแนะนำว่าอย่าเสียบไฟทบกันไปมาจนเกินกำลังไฟจะรับไหวการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันคราวละหลายๆตัว ก็เสี่ยงต่อการเกิดไฟช็อตไฟรั่ว
  6. ควรเตือนและสอนเด็กให้เห็นถึงอันตรายจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง และดูแลไม่ให้เด็กเล่นซนบริเวณที่เสี่ยงเกิดไฟช็อตได้

ลูกถูกไฟช็อต

ทั้งนี้สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อตด้วยกำลังไฟฟ้าสูง ซึ่งจะถูกไฟช็อตขณะที่กำลังตรวจวงจรไฟฟ้าหรือทำงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ถูกไฟช็อต ได้แก่ ชนิดของกระแสไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้าสลับ หรือกระแสไฟฟ้าตรง) ปริมาณโวลต์ไฟฟ้า (โวลต์ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และปริมาณโวลต์ไฟฟ้าที่วิ่งเข้าร่างกาย) และวิถีที่กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกาย ไฟฟ้าที่มีกำลังต่ำหรือไม่ถึง 500 โวลต์มักจะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ส่วนผู้ที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้ากำลังสูงหรือมากกว่า 500 โวลต์ อาจได้รับอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ เด็กเล็กมักไม่ได้รับบาดเจ็บจากไฟช็อตอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กจะถูกไฟช็อตที่มีกำลังประมาณ 110 – 220 โวลต์ สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟช็อตเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • สัมผัสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตรงบริเวณที่กระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ ส่วนเด็กเล็กเกิดจากการกัดสายไฟหรือเอาเหล็กแหย่เต้าเสียบปลั๊กไฟ
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าโดนน้ำหรือเปียกน้ำ
  • เครื่องไฟฟ้าทำงานผิดปกติ หรือเกิดความขัดข้องเสียหายขึ้นมา
  • ระบบไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
  • เกิดประกายไฟหรือไฟฟ้ารั่ว
  • หากถูกฟ้าผ่า ก็อาจได้รับบาดเจ็บเหมือนถูกไฟช็อตได้

อาการผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต

อาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไปตั้งแต่บาดแผลไหม้เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต ซึ่งมักขึ้นอยู่กับปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งบางรายอาจเพียงทำให้ล้มลงกับพื้น หรือของหล่นจากมือเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต แต่ถ้าไฟฟ้าช็อตแล้วตกจากที่สูงก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายถ้าเป็นแบบรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว หมดสติ อาจมีอาการหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในทันที

ในบางรายอาจหมดสติไปชั่วครู่ และอาจจะรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวา หลังจากฟื้นขึ้นมาแล้ว หรือบางรายอาจทำให้เป็นแผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บถ้าเกิดแผลไหม้ผิวหนังแล้วกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ หรือเนื่องจากการชักกระตุกหรือตกจากที่สูงอาจทำให้กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่นๆ หักได้ หรือมีอาการซีดเหลืองจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดขึ้นได้

อ่านต่อ >> การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up