การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต
- รีบปิดสวิตช์ไฟหรือถอดปลั๊กไฟทันที
- ถ้าทำไม่ได้ ควรช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟช็อตหลุดจากกระแสไฟที่วิ่งอยู่ด้วยความระมัดระวัง โดยยืนบนฉนวนที่แห้ง เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าหรือไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วยหรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ ไม่ควรให้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และไม่ควรแตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรงจนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน
- ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไปจนกว่าจะหายใจได้เอง และถ้าผู้ป่วยหายใจได้เองแต่หมดสติควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่นๆ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ควรตรวจการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
คำเตือน
- ห้ามแตะตัวคนที่กำลังโดนไฟช็อต มิฉะนั้นคุณนั่นแหละจะโดนช็อตไปด้วย
- อย่าเข้าไปในบริเวณที่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดนน้ำหรือเกิดความชื้น
- ในกรณีที่เกิดไฟไหม้จากไฟฟ้า ให้ปิดเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยใช้ที่ดับเพลิงดับไฟ
การรักษารอยแผลไหม้จากไฟฟ้าช็อตเล็กน้อย
- ถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับตรงจุดที่เกิดแผลไหม้ แม้กระทั่งแผลไหม้เล็กน้อยก็สามารถเกิดอาการบวมจนไม่สบายตัวได้ ดังนั้นจึงต้องรีบเอาเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับออกทันที
- ถ้าเสื้อผ้าเกิดไหม้ติดกับผิวหนัง นั่นจะไม่ถือว่าเป็นแผลเล็กน้อยแล้ว และคุณควรต้องเข้ารับการรักษาทันที อย่าพยายามเอาเสื้อผ้าที่ติดกับผิวออก แต่ให้ตัดรอบๆ บริเวณที่ติดเพื่อเอาเสื้อผ้าส่วนที่เหลือออกไป
- ล้างบริเวณที่ไหม้ ใช้สบู่กับน้ำเย็นทำความสะอาดบริเวณที่ไหม้ ลูบไล้สบู่เบาๆ เพื่อไม่ให้ตุ่มพองแตกหรือทำให้ผิวเกิดระคายเคือง
- ล้างบริเวณที่ไหม้ด้วยน้ำเย็นจนกระทั่งแผลหายปวด.น้ำเย็นจะลดอุณหภูมิของผิวลง และยังอาจหยุดแผลไหม้ไม่ให้สาหัสขึ้นกว่านั้น แช่แผลไหม้ในน้ำเย็นที่ไหลผ่านหรือราดไปประมาณ 10 นาที อย่าตกใจตื่นถ้าน้ำเย็นไม่ได้ทำให้หายปวดในทันที มันอาจต้องใช้เวลาถึงสามสิบนาที
- อย่าใช้น้ำแข็งหรือน้ำแช่น้ำแข็งเพราะอุณหภูมิที่เย็นจัดอาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหายมากขึ้น
- อย่าให้ตุ่มพองแตกตุ่มพองจากการไหม้นั้นไม่เหมือนตุ่มพองจากการเสียดสี ที่ซึ่งการทำให้มันแตกจะช่วยลดอาการปวดลง ห้ามทำตุ่มพองจากการไหม้แตก เพราะถ้าทำไปจะยิ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ
- เรียนรู้ที่จะระบุอาการของแผลไหม้ความลึกระดับหนึ่ง สองและสาม เพื่อช่วยตัดสินใจว่าคุณต้องทำอย่างไรต่อไปซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของแผลไหม้นั้น
- แผลไหม้ความลึกระดับที่หนึ่งเป็นชนิดที่รุนแรงน้อยที่สุด ส่งผลเพียงเฉพาะผิวชั้นนอกสุดของผิวหนัง แผลไหม้ชนิดนี้มีผลทำให้ผิวแดงและมักจะรู้สึกปวด อย่างไรก็ดี แผลไหม้ชนิดนี้นับว่าเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยและสามารถรักษาเองที่บ้านได้
- แผลไหม้ความลึกระดับที่สองมีความรุนแรงยิ่งกว่า โดยจะส่งผลทั้งผิวชั้นนอกกับชั้นที่สองของผิวหนัง แผลไหม้ชนิดนี้ส่งผลให้ผิวบวมแดงๆ ด่างๆ พร้อมกับมีตุ่มพอง และจะสร้างความเจ็บปวดกับการไวต่อสัมผัส ในขณะที่แผลไหม้บริเวณเล็กๆ อาจยังคงรักษาเองที่บ้านได้ แต่แผลที่กินบริเวณกว้างนั้นจำต้องรับการดูแลจากแพทย์
- แผลไหม้ความลึกระดับที่สามเป็นขั้นที่รุนแรงและอันตรายที่สุด โดยจะส่งผลไปทุกชั้นผิว แผลไหม้ชนิดนี้อาจส่งผลให้ผิวเป็นสีแดง น้ำตาล หรือขาว แต่ส่วนใหญ่มักเป็นสีดำ ผิวหนังบริเวณที่โดนจะดูเหมือนหนังสัตว์ และมักจะชาไร้ความรู้สึก แผลไหม้ชนิดนี้ต้องได้รับการแลจากแพทย์ทันที
ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ที่ถูกไฟช็อตเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ได้ โดยกระแสไฟฟ้ากำลังต่ำที่ช็อตสตรีมีครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้อย่างรุนแรง เนื่องจากผิวหนังของทารกในครรภ์บอบบางกว่าผิวหนังคนทั่วไปถึง 200 เท่า ทั้งนี้ หากวิถีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมดลูก ทารกก็เสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟช็อต ส่งผลให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า ประสบภาวะน้ำคร่ำน้อย เคลื่อนไหวน้อยลง และเกิดการแท้งได้
สำหรับบ้านไหนที่มีลูกน้อย สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องคอยระวังคือ การระวังลูกน้อยเข้าใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะเราไม่อาจล่วงรู้ได้ตลอดเวลาว่า สิ่งร้ายๆ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและคอยระมัดระวังตามที่แนะนำไว้ข้างต้น ก็สามารถช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยจากอันตรายของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างได้ค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เด็กหญิงอายุ 13 เป็นแผลไหม้ที่คอ เพราะมือถืออันตราย
- 13 ของใช้ในบ้านอันตราย พ่อแม่ต้องระมัดระวัง
- น้ำร้อนลวก ลูกโดนน้ำร้อนลวกจนเป็นแผลทำยังไงดี?
- วิธีช่วยเหลือลูกน้อย เมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย
ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.haijai.com , th.wikihow.com