มือเท้าปากเปื่อย โรคเดิมแต่กลับมาคราวนี้รุนแรงขึ้น เมื่อลูกมีแผลตามปาก มือ หรือเท้าอย่าเพิ่งวางใจ เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้น่ากลัว อันตรายพาติดคนทั้งบ้านได้
มือเท้าปากเปื่อย ระบาดอีกแล้ว!! เตือนพ่อแม่ระวังเชื้อแรงขึ้น
โรคมือเท้าปากเปื่อย ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทยเกิดการระบาดเป็นครั้งคราวพบได้มานานแล้ว แต่ที่สำคัญในปีนี้พบการระบาดของ มือเท้าปากเปื่อย ในตัวไวรัสที่รุนแรง อันตรายกว่าเดิม จากเชื้อ Enterovirus 71 และการติดเชื้อเป็นไปได้ง่ายมาก แถมเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ได้ด้วย!!
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลง และมีความชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงที่เด็กๆ เปิดเทอม และมีการรวมตัวกัน ดังนั้นจึงฝากเตือนครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ และไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 26 ก.ค.2565 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก อายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 8,798 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนสถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปากในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 25 ก.ค.2565 มีรายงานผู้ป่วยรวม 521 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 87 ราย
2.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 85 ราย
3.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 128 ราย
4.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 221 ราย
ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 3 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ อายุ 1 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า แนะนำให้ครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
ที่มาจาก www.bangkokbiznews.com
“โรคมือเท้าปากเปื่อย” เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ Eneterovirus หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ Coxsackie virus A16 และ Enterovirus 71 พบบ่อยในเด็กทารก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับประเทศไทยพบการระบาดตลอดทั้งปี แต่จะมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝนและช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น
*โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง มีลักษณะเฉพาะคือ มีตุ่มน้ำใสขอบแดงขึ้นที่บริเวณปาก มือ และเท้า”
อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะเจ็บปากจนไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงเจ็บที่ลิ้น เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งต่อมาตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส ซึ่งบริเวณฐานของตุ่มจะอักเสบและแดง นอกจากนี้สามารถพบอาการที่ระบบอื่นได้อีก เช่น
– อาการทางระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
– อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลว และคลื่นไส้อาเจียนได้
– อาการทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ
– อาการทางหัวใจ(พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรง)เนื่องจากสามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้
*อาการของผู้ป่วย อาจมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่จะทุเลาและหายเป็นปกติได้เองภายในประมาณ 7-10 วัน
มือเท้าปากเปื่อย ติดต่อง่ายมาก ระวัง!ติดทั้งบ้าน
อย่างที่ทราบกันดีว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมาก ยิ่งเป็นการระบาดในเด็กเล็กยิ่งทำให้ป้องกันได้ยาก โดยเฉพาะเด็กที่เข้าเรียน ที่ต้องอยู่ในกลุ่มคนมาก ยิ่งทำให้การป้องกันการติดเชื้อยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่า นอกจากตัวเด็กเองที่ได้รับเชื้อ และต้องทรมานจากโรคมือเท้าปาก ยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่บุคคลในครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งหากคนในครอบครัวนั้นมีผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสนี้ก็จะยิ่งเพิ่มอันตรายมากยิ่งขึ้น ดังเช่นครอบครัวของคุณแม่ผู้ใช้ @Kantika Nakapakorn ได้เล่าเรื่องราวของครอบครัวผ่านเพจ Drama-addict ไว้ว่า ลูกสาวคนที่สองติดเชื้อจากโรงเรียน และนำมาติดน้องคนเล็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้บ่อย จึงทำให้อาการหนักกว่าปกติ
คุณแม่ที่ลูกเขาป่วยเป็นโรคมือเท้าปากฝากมาครับผม ช่วงนี้ระบาด พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆต้องระวังนะครับ
ช่วงนี้โรคมือปากเท้าเปื่อย มาแรงนะคะอันนี้น้องเป็นโรคมือเท้าปาก +กับอาการแทรกซ้อนภูมิแพ้ ผื่นเลยขึ้นทั้งตัว อันนี้เป็นไวรัสอีกตัวนึง ที่มีความรุนแรงเริ่มแรกบ้านนี้มีลูกสาว 3คนคะ 2คนแรกไป ร.ร แต่เหตุเกิดจาก ลูกสาวคนที่สอง ติดมาจาก ร.ร แล้วนำมาติดสู่น้องคนเล็ก แต่เดิมทีน้องคนเล็กเป็นผื่นภูมิแพ้บ่อยอยู่แล้ว เลยทำให้ เป็นผื่นซ้ำเข้าไปอีก จนอาการ นั้น คูณ 2 จนกลายเป็นเพิ่มความรุนแรง ตอนนี้ น้องเข้าแอดมิด ที่โรงพยาบาลแล้วเรียบร้อยคะ(จากในภาพคือสภาพอาการน้องแค่2วันเท่านั้น)อาการเริ่มแรกคือมีไข้ต่ำๆ วันถัดมา เริ่มมีผื่นขึ้นที่ปาก มือ เท้า ก้น แล้วล่ามไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นในเด็กอายุน้อย จะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กที่โตแล้ว ทางคุณหมอแจ้งว่า โรคติดไม่ใช่ติดกับเด็กอย่างเดียว สามารถติดกับผู้ใหญ่ได้ด้วยนะคะ ระยะแพร่เชื้อ 1-2 สัปดาห์ เคยติดแล้วหายแล้วติดซ้ำได้อีกอนุญาติให้แชร์ภาพได้ กรณีศึกษา กรณีเตือนภัยนะคะเพราะไวรัสตัวนี้น่ากลัวจริง
Cr. FB Kantika Nakapakornที่มา เพจ Drama-addict
ป้องกันไม่ให้ระบาด คุ้มครองสมาชิกในครอบครัว
เนื่องจากโรคนี้ติดต่อง่าย และอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การป้องกันไม่ให้มีการระบาด เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะหากเชื้อไปติดในเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุ บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ก็จะทำให้เป็นอันตรายได้
- การดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยการล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง (การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้)
- รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
- ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนมร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเหลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย
- หลีกเหลี่ยงการนำเด็กทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ๆ เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะในช่วงที่มีโรคระบาดมาก
- ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูกน้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ
- ไม่ไปเล่นในสระว่ายน้ำ และควรฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำด้วยคลอรีนในจำนวนที่เหมาะสม
- ทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็กที่อาจปนเปื้อน เชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาฟอกขาว (คลอเร็กซ์) อัตราส่วน คือ น้ำยา 20 CC ต่อน้ำ 1000 CC และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง โดยเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมได้ 2-3 วัน เชื้อตายง่ายในที่แห้งและร้อน ดังนั้นควรทำความสะอาดของเล่นด้วย
- ถ้าพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ควรรับแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคต่อไป
โรคนี้ไม่มีการป้องกันด้วยการวัคซีน ดังนั้นผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กควรเน้นที่สุขอนามัยของเด็กมากที่สุด โดยสอนให้เด็กล้างมือให้เป็นนิสัย ไม่เอาของเข้าปาก เป็นต้น
หากมีข้อสงสัยอื่นใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thonburi2hospital.com/www.si.mahidol.ac.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิธีสังเกต อาการมือเท้าปาก และ วิธีดูแลรักษาลูกโดยไม่ต้องแอดมิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่