สังเกต โรคลมชัก ในเด็ก รู้ไว รักษาเร็ว ลดความเสี่ยง

สังเกตให้ดี อาการแบบนี้ลูกเป็น โรคลมชัก หรือไม่? รู้ไว รักษาเร็ว ลดความเสี่ยง

event

องค์กรอนามัยโลก (WHO) ร่วมมือกับองค์กรด้าน โรคลมชักสากล ได้กำหนดให้ จันทร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี เป็นวันโรคลมชักสากล โดยปี 2567 นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 ก.พ. ค่ะ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการมีอยู่ของผู้ป่วยโรคลมชัก วิธีการรับมือเมื่อต้องเจอผู้ป่วย รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอย่างเข้าใจ การเป็น โรคลมชัก ในเด็ก มีความอันตรายอย่างไร เมื่อเป็นแล้วจะเกิดความเสี่ยงในด้านใด #กองบรรณาธิการABK ได้ขอข้อมูลจากคุณหมอกระต่าย ผศ. (พิเศษ) นพ. กุลเสฏฐ ศักดิ์พิชัยสกุล หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มาให้คำตอบในเรื่องนี้ค่ะ

โรคลมชัก ในเด็ก
WHO กำหนดให้วันจันทร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี เป็นวันโรคลมชักสากล โดยมีสีม่วงเป็นสัญลักษณ์เพื่อความตระหนักถึงการมีอยู่ของผู้ป่วยโรคลมชัก

สังเกต โรคลมชัก หรือ แค่อาการชัก ในเด็ก เป็นอาการที่พบบ่อย โดยจะแบ่งเป็น

  • อาการชักจากการเป็นไข้ โดยจะเป็นเพียงช่วง 6 เดือน – 5 ปี เมื่อโตขึ้นจะสามารถหายได้เอง
  • อาการชัก 1 ครั้ง และไม่มีไข้ อาจเป็นภาวะหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มสังเกตลูก
  • อาการชักมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป อาจเป็นโรคลมชัก ควรรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจและรักษาต่อไปค่ะ

โรคลมชักเป็นโรคทางประสาทที่พบได้บ่อยในเด็กไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆ เป็นอย่างมาก ทั้งด้านพัฒนาการ การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน และอาจนำไปสู่อุบัติเหตุบาดเจ็บรุนแรง เพราะเป็นโรคที่สามารถแสดงอาการได้ทุกเมื่อค่ะ

สาเหตุของ โรคลมชัก

สาเหตุของ โรคลมชัก ในเด็ก จะต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนเช่น ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เนื้องอกในสมอง พันธุกรรม และโรคอื่น ๆ

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ยาก การรักษาโรคลมชักจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการชัก

อาการของ โรคลมชัก

อาการของโรคลมชักมีหลายลักษณะ ไม่จำเป็นต้องแสดงอาการเกร็งทั้งตัว บาครั้งเป็นอาการกระตุกที่แขน ขา บางรายเป็นอาการเหม่อลอย สูญเสียสติ การรับรู้ และการตอบสนองไปชั่วขณะ เป็นต้น ซึ่งอาการอาจต่างกันไปตามช่วงอายุ โดยจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

โรคลมชักในเด็กจะสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด วัยทารก เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นหรือหลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค โดยเด็กที่เป็นโรคลมชักบางคนอาจไม่ได้แสดงอาการที่แน่ชัด แต่จะพบความผิดปกติบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ผวา สะดุ้ง ผงกหัว เป็นต้น มองภายนอกอาจสังเกตเห็นอาการได้ไม่ชัดเจน หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการในข้างต้น หรืออาการที่สื่อถึงความผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการหาสาเหตุ และรักษาต่อไปค่ะ

โรคลมชัก ในเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการ และสภาพจิตใจ
โรคลมชัก ส่งผลต่อพัฒนาการ และสภาพจิตใจของเด็ก

โรคลมชัก ในเด็ก ส่งผลต่อทั้งร่ายกายและจิตใจ

อาการลมชักในเด็ก ยิ่งเจอตั้งแต่ยังเล็ก ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะมีอาการรุนแรงขึ้น หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หรือได้รับการรักษา และคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบดังนี้

  • อุบัติเหตุจากการชัก ที่เกิดจากสูญเสียการควบคุมร่างกาย และอาการเหม่อที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น หกล้ม จมน้ำ รถชน หรืออุบัติเหตุอื่นๆ
  • ปัญหาทางด้านพัฒนาการ และการเรียนรู้ เนื่องจากลมชัก เป็นสาเหตุหนึงที่ทำให้การทำงานของสมอง ทำให้การรับรู้ และการวิเคราะห์ช้าลง ทำให้ลูกพัมนาการช้าลงไปด้วย
  • ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสังคม อาจรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน จนเกิดความเครียม วิตกกังวล และซึมเศร้า

ซึ่งในความเป็นจริงเด็กที่เป็นโรคลมชัก สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่ต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความบาดเจ็บ หรืออันตรายอันเนื่องมาจากการชักได้

โรคลมชัก รักษาได้

โรคลมชัก ในเด็ก ส่วนใหญ่ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ยิ่งได้เข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เร็วเท่าใด ก็ยิ่งป้องกันผลกระทบที่่กล่าวมาข้างต้นได้เร็วขึ้นเท่านั้น โดยวิธีการรักษามีดังนี้ค่ะ

  • การรักษาโดยให้ยากันชัก (Antiseizure medication) – เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคลมชักในเด็ก ซึ่งผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีโอกาสหายขาดจากโรคนี้จากการกินยา แต่ละคนอาจตอบสนองยาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการและสาเหตุ ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด ต้องติดตามอาการ ผลข้างเคียง และผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะอย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่มีอาการดื้อยากันชัก ทำให้คุมอาการได้ยาก แพทย์จึงต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่
  • การผ่าตัดสมอง – สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก แพทย์จะประเมินว่าสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากความปลอดภัย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนและความเสี่ยงสูง ต้องใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประสิทธิภาพการรักษาและการลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงหลังการผ่าตัด
  • การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาท VNS – เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับโรคลมชักในเด็กที่ดื้อต่อยากันชักและแพทย์ประเมินแล้วว่าเด็กไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดสมองได้ เครื่องมือนี้จะกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทที่อยู่บริเวณคอเพื่อยับยั้งคลื่นสมองโดยอัตโนมัติ และเมื่อใช้ร่วมกับยากันชัก เครื่องมือนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งอาการชัก ลดขนาดและจำนวนยากันชัก ลดอัตราการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคลมชัก และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
  • การกินอาหารแบบคีโตน – ในผู้ป่วยเด็กที่ดื้อต่อยากันชักบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้กินอาหารแบบคีโตน (Ketogenic Diet) ซึ่งเป็นการกินอาหารที่เน้นอาหารไขมันสูงและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตต่ำ เนื่องจากพบว่าสารอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสารคีโตน (Ketones) ที่ช่วยปรับการทำงานของสมองและลดอาการชักได้ แต่การกินอาหารแบบคีโตนอาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินและทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเหมาะสม รวมกับใช้ยาตามแพทย์สั่งควบคู่ไปด้วย
อาการของ โรคลมชัก ในเด็ก
อาการของ โรคลมชักในเด็ก อาจเป็นภาวะเหม่อ ผงกหัว หรือกระตุกโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกว่ามีอาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือไม่

โรคลมชักในเด็กอาจพบในช่วงอายุใดก็ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตสัญญาณของโรค โดยเฉพาะ อาการเหม่ออย่างฉับพลัน ยืนนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ แขนหรือขาชักเกร็งกระตุก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการวินิจฉัยและเข้ารับรักษาเร็วอาจเพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติ และลดความเสี่ยงของผลกระทบจากโรคค่ะ

ในประเทศไทยมีหน่วยงานและองค์กรที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักในเด็กโดยเฉพาะ หากมีข้อสงสัยหรือกังวลใจว่าลูกของเราเป็นโรคลมชักหรือไม่ สามารถเข้าปรึกษากับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคในเด็ก อย่างที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีหรือโรงพยาบาลเด็ก เพื่อที่จะช่วยแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและดูแลลูกที่มีอาการโรคลมชักได้อย่างถูกต้องค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก

มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

ผศ. (พิเศษ) นพ. กุลเสฏฐ ศักดิ์พิชัยสกุล
หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

 

ร่วมบริจาคค่าผ่าตัดให้ผู้ป่วยลมชักดื้อยา
มีโอกาสหายขาดจากโรคลมชัก และมีโอกาสใช้ชีวิตปกติ

ชื่อบัญชี สมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก 

ธนาคารไทยพาณิชย์ 051-301807-1 

ธนาคารกรุงไทย 661-055841-8

ส่งหลักฐานโอนเงินเพื่อรวมยอดและออกใบเสร็จรับเงิน

ที่ https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=354rudqs

หมายเหตุ : ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 090-663-1479

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up