♥ ป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ให้เลือดออก เพื่อชีวิตที่ยืนยาว
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย มีการใส่เสื้อผ้าบุฟองน้ำบริเวณข้อที่มีเลือดออกง่าย เช่น ข้อเข่า ข้อศอกสามารถฉีดสารให้เลือดแข็งตัวได้เองที่บ้าน และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเลือดออก
แต่ โรคขาดแฟคเตอร์ 7 ที่เกิดในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่สุดที่จะดูแลลูกน้อย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้มีเลือดออก มาพบแพทย์เพื่อรับพลาสมาแบบป้องกันสม่ำเสมอ หากมีเลือดออกก็ต้องรีบพาลูกมารับพลาสมารักษาทันที
เมื่อโตขึ้นต้องสอนให้ลูกรู้จักระวังตัวเอง ดูแลไม่ให้ฟันผุ จะได้ไม่ต้องทำฟันจนเลือดออก แจ้งครู โรงเรียนและคนรอบข้างให้รู้ว่าลูกป่วย จะทำให้ลูกน้อยมีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากเป็นลูกสาวและโตขึ้น อาจจะทำให้มีประจำเดือนเร็วก่อนวัยอันควร มีประจำเดือนออกมาก จึงอาจต้องปรึกษาแพทย์เรื่องการผ่าตัดมดลูกออกเพื่อสุขภาพในอนาคต
√ คุณหมอฝากไว้ ….สังเกต รู้ทัน ป้องกันโรคเลือดอันตราย
หลังคลอดลูกน้อยคุณแม่ควรสังเกตอาการเลือดออกผิดปกติของลูกตั้งแต่แรกเกิดในโรงพยาบาล ให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อช่วยดูแลให้พลาสมาได้เบื้องต้น ป้องกันอาการเลือดออกในสมองและชักจนเสียชีวิตแต่หากสังเกตลูกมีจ้ำเขียวๆ ให้รีบปรึกษาคุณหมอ จะได้ตรวจสอบว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม มีเกล็ดเลือดผิดปกติและอื่นๆ หรือไม่ เพื่อการดูแลอย่างถูกต้องต่อไปได้ในอนาคต
คุณหมอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า โรคขาดแฟคเตอร์ 7 นี้ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย จึงไม่อยากให้คุณแม่กังวลใจเรื่องนี้เกินไป เพราะความจริงแล้วโรคที่มีปัญหามากคือธาลัสซีเมียมากกว่า ดังนั้นจึงแนะนำให้คู่สมรสทุกคน ควรไปปรึกษาหมอเพื่อตรวจโรคเลือดทางพันธุกรรมก่อนตั้งครรภ์ เช่น ตรวจธาลัสซีเมียแบบละเอียด ไม่ใช่แค่การตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะมีโอกาสเป็นโรคเลือด และมีความรู้ความเข้าใจ สามารถวินิจฉัยโรคแก่ทารกในครรภ์ก่อนคลอด หากพ่อและแม่มีพาหะของโรคเลือด แต่ถ้าลูกน้อยป่วยเป็นโรคเลือดคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวก็ต้องช่วยดูแลไปตลอดชีวิตค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- 11 โรคติดต่อทางพันธุกรรม จากพ่อแม่สู่ลูกและวิธีป้องกัน
- วางแผนมีลูก กับ 10 เรื่องที่ต้องเจอ
- โฉมหน้า 15 โรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
ขอบคุณบทความจาก : ศาสตราจารย์ พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล