โรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
โรคไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัด ใหญ่ มี 3 ชนิดที่ก่อโรคในมนุษย์ คือ A B และ C โดยชนิด A (H1N1 และ H3N2) และ B (ตระกูลวิคตอเรีย และ ยามากาตะ) เป็นเชื้อที่พบบ่อย ส่วนชนิด C พบได้น้อย โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝน หรือหน้าหนาว
Must read >> 7 โรคเด็ก ช่วงเปิดเทอม ที่ต้องระวัง
Must read >> 10 รายชื่อหมอเด็ก ที่เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์และเฉพาะทางโรคเด็ก ที่แม่บอกต่อ
การแพร่กระจายของเชื้อ
โรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้โดยละอองฝอยจากการไอ หรือจามรดกัน หรือผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น กระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ลูกบิดประตู ของเล่น แก้วน้ำ แล้วนำเข้าตา จมูก หรือ ปากของตัวเอง ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้หนึ่งวันก่อนเริ่มมีอาการป่วย และแพร่เชื้อได้นาน 3-5 วัน แต่เด็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จะแพร่เชื้อได้นานกว่านี้
อาการของ โรคไข้หวัดใหญ่ ที่สำคัญ
- มีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน
- อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
- ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหัว และอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเบื่ออาหารเป็นอาการสำคัญ
มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่นี้มีได้หลากหลายตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก ขึ้นกับว่าเคยมีภูมิคุ้มกันหรือได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนหรือไม่ ส่วนใหญ่มักมีอาการ 2-3 วัน และ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาการที่รุนแรงและควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนคือ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก ซึมลง และอาเจียนตลอดเวลา
ทั้งนี้เด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ เด็กที่เป็นโรคหอบหืด โรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคเมตาบอลิค โรคไต และโรคธาลัสซีเมีย โรค ทางระบบประสาทที่มีปัญหาด้านการท้างานของปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเด็กที่ได้รับยาแอสไพริน เป็นระยะเวลายาวนาน
การรักษา โรคไข้หวัดใหญ่
เบื้องต้นทำได้โดยการให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน กินยาแก้ปวดลดไข้ ห้ามไม่ให้เด็กกินยาแอสไพรินเมื่อสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการไรน์ (Reye syndrome) ที่มีอาการตับวายและความผิดปกติของสมอง โดยคุณหมออาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการรุนแรงมาก เช่น ปอดอักเสบ ขาดสารน้้า หรือ ซึมลง ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
Must read >> รีวิว ปรอทวัดไข้ อุณหภูมิเท่าไหร่? แปลว่า ลูกมีไข้ กันแน่!
Must read >> การเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่างถูกวิธี
การป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็ก และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 2 ชนิดคือ 3 สายพันธุ์ (ชนิดเอ H1N1, H3N2 และชนิดบี 1 สายพันธุ์) และ 4 สายพันธุ์ (ชนิดเอ H1N1, H3N2 และชนิดบี 2 สายพันธุ์ คือ ตระกูลวิคตอเรีย และ ยามากาตะ)
ทั้งนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุก ๆ ปี เนื่องจากไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม โดยวัคซีนใหม่จะถูกเตรียมเพื่อให้เหมาะสมกับเชื้อที่คาดว่าจะระบาดในฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ที่จะมาถึงในทุก ๆ ปี
ซึ่งวัคซีนจะมีความปลอดภัยสูง และอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดบ้างซึ่งมักหายได้เอง ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ในแม่ท้องนอกจากจะช่วยป้องกันตนเองแล้วยังสามารถป้องกันลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A รุนแรงและอันตรายกว่าทุกสายพันธุ์
- ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ a กับ b ต่างกันอย่างไร ?
- แม่แชร์! ลูกชายเสียชีวิตเพราะ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ
- ไขข้อสงสัย ลูกฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แล้วทำไมยังต้องฉีดซ้ำ!!
- ไข้หวัดธรรมดา ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ แตกต่างกันอย่างไร?
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากแพทยสภา “หมอชวนรู้” โดย นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิง จุฑารัตน์ เมฆมัลลิกา กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช tmc.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่