โรคฮิบคืออะไร?
โรคติดเชื้อฮิบ หรือฮีโมฟิลุส อินฟลูเอ็นเซ่ ชนิดบี (Haemophilus influenzae type b: Hib) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรครุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และ ฝีในสมอง โดยมักมีอาการ ดังนี้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการโดยทั่วไปไม่แตกต่างไปจากโรคเยื่อหุ้มสมองที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ คือ มีอาการไข้ ซึม ชัก คอแข็ง แต่ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ของเหลวคั่งในช่องใต้ เยื่อหุ้มสมอง (subdural effusion) หนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด สมองอักเสบ น้ำคั่งโพรงสมอง เป็นต้น ถึงแม้ ได้รับการรักษาที่ดีและเหมาะสมแล้ว ยังมีอัตราตายสูงประมาณ ร้อยละ 5-11 ภาวะแทรกซ้อนทางประสาท หรือสมองที่พบได้บ้าง เช่น หูตึง เจริญเติบโตช้า พัฒนาการทางสมองช้าลง
- โรคปอดอักเสบ อาการโดยทั่วไปไม่สามารถแยกลักษณะทางคลินิกที่เกิดจากแบคทีเรียอื่น และ พบว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีเชื้อกระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจ
- การติดเชื้อในกระแสโลหิต ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ซึม และเมื่อเพาะเชื้อจากเลือด จะตรวจพบเชื้อ HIB
- สำหรับโรคอื่น ๆ ได้แก่ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และฝีในสมอง สามารถพบได้แต่พบได้น้อย และแยกได้ยากจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น
สาเหตุของโรคฮิบ
เนื่องจากโรคนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในจมูกและคอของคน โดยทั่วไปเชื้อนี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อาจเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดดมละอองที่มาจากการไอและจาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อหรือเป็นพาหะนำโรค โดยอาจใช้เวลา 2-3 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการป่วยออกมา ทั้งนี้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฮิบมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่ตั้งครรภ์
ทำไมถึงต้องฉีด วัคซีน HIB?
เพราะการฉีด วัคซีน HIB เป็นวิธีที่สามารถป้องกันโรค Haemophilus Influenzae Type B ได้ดีที่สุด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ ซึ่งโดยปกติเด็กแรกเกิดควรได้รับ วัคซีน HIB เข็มที่ 1 เมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4 เดือน และเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันอีก ยกเว้นแต่จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอย่างการติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ แพทย์จึงอาจแนะนำให้มาฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กมีอายุ 12-18 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันโรคในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แม้โดยทั่วไป วัคซีน HIB แทบไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง แต่ในบางครั้งผู้ที่รับการฉีดก็อาจมีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ถูกฉีดยาเข้าไปได้ และวัคซีนป้องกันโรคนี้สามารถป้องกันได้เพียงเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบีเท่านั้น ผู้ปกครองจึงควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อให้บุตรหลานได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจคลิก
ตารางวัคซีน 2562 แม่เช็กเลย! ลูกอายุเท่าไหร่..ต้องฉีดตัวไหนบ้าง?
ฉีดวัคซีนแล้วตาย เพราะลูกน้อยแพ้วัคซีน กรณีที่ไม่ควรประมาท
รวม 79 รพ. ตรวจไวรัสตับอักเสบบี ฟรี ป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก
9 ประกันสุขภาพเด็ก ปี 2562 ที่ไหนดีที่คุ้มครองคุ้มค่า ราคาถูก
ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส., สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กองป้องกันโรคด้วยวัคซีน, พบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่