ทำความรู้จักกับ “ตะคริว”
ตะคริว หรือมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Muscle Cramps หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งที่ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ ร่วมกับมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง แต่จะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะแล้วอาการจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวนั้นสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลาย ๆ มัดพร้อมกันก็ได้ โดยมักเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน หรือในขณะนั่งพักหรือนอนพักเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น
ตะคริวเกิดได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายที่เราพบได้โดยทั่วไปใต้ผิวหนัง แต่กล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวได้บ่อยที่สุดก็คือ “กล้ามเนื้อน่อง” รองลงมาคือ กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อหลัง โดยโอกาสในการเกิดที่ขานั้นมีเท่ากันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและผู้ชายก็ใกล้เคียงกัน แต่สถิติการเกิดที่ชัดเจนยังไม่มี เพราะเป็นอาการที่หายได้เองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักเคยเกิดอาการนี้ และประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของคนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการซ้ำได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์เลยละค่ะ
การ เป็นตะคริว นั้นเกิดได้จากสาเหตุดังนี้
- เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากจนเกินไป
- การดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ ซึ่งมักเป็นสาเหตุในผู้สูงอายุ
- การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงมักขาดน้ำรวมทั้งกล้ามเนื้อ
- เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์ทุกชนิดในร่างกายเสื่อมถอยลง ซึ่งรวมถึงเซลล์เนื้อ มักพบอาการนี้มากในผู้สูงอายุ
- สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง รวมทั้งการขาดการออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนเกิดเป็นตะคริว
- ภาวะการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
- ภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำ หรือร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ที่ใช้ในการทำงานของกล้ามเนื้อที่สำคัญ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม จากอาการท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมากจากการทำงาน การเล่นกีฬา อากาศที่ร้อน หรือจากโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ควบคุมเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระทบกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ, ยาลดไขมัน, ไนเฟดิพีน, มอร์ฟีน, สเตียรอยด์ เป็นต้น
- ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน จึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้สูบบุหรี่จัด อาจเป็นตะคริวที่ขาได้บ่อยในขณะที่ออกกำลัง เดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หรือเป็นในขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืดเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
- รากประสาทถูกกด เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังแคบ อันส่งผลให้ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการตะคริวที่น่องในขณะเดินเป็นเวลานาน ๆ หรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ
- ตะคริวที่พบร่วมกับโรคเรื้อรังหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคโลหิตจาง, โรคเบาหวาน (ทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โรคของต่อมไทรอยด์ ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ อันเกิดความผิดปกติทางฮอร์โมน และรวมไปถึงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดซึ่งเป็นยาฮอร์โมน, โรคตับและโรคไต ตับแข็ง ไตวาย เป็นต้น