โรค G6PD หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคแพ้ถั่วปากอ้า ได้ยินชื่อโรคแล้วคงพอจะเดาออกว่าคนที่เป็นโรคนี้ห้ามกินถั่วปากอ้า แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อันตรายถึงชีวิตได้
โรค G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้าคืออะไร? ห้ามกินอะไรบ้าง?
โรคแพ้ถั่วปากอ้า หรือ โรค G6PD คืออะไร?
โรค G6PD หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้า (G6PD Deficiency หรือภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งเอนไซม์ G6PD นี้ มีความสำคัญในกระบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน (เมตาบอลิซึ่ม) เมื่อขาดเอนไซม์ตัวนี้ จะส่งผลให้เกิดการทำลายสารอนุมูลอิสระ (Oxidants) ต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกายโดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง ดังนั้นคนที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย จนเกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจมีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง หายใจไม่อิ่ม เป็นต้น โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังมีภาวะติดเชื้อ รวมทั้งเมื่อได้รับอาหารหรือยาบางชนิด พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง
ดูอย่างไรว่าลูกเป็นโรค G6PD?
ในเด็กทารกที่เป็นโรคนี้ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิด จะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตั้งแต่แรกเกิด และมีอาการดีซ่านที่ยาวนานผิดปกติ โดยภาวะนี้ เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม สามารถถ่ายทอดความผิดปกตินี้ไปสู่รุ่นลูก ซึ่งหากเป็นเด็กผู้ชาย จะเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าผู้หญิง สำหรับเด็กผู้หญิงมักไม่แสดงอาการเจ็บป่วยออกมา แต่สามารถส่งต่อไปสู่ลูกได้
สำหรับในเด็กโตและผู้ใหญ่ จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย จนกว่าร่างกายจะได้รับยาหรืออาหารบางชนิดที่ไปกระตุ้นโรค ซึ่งอาจทำให้มีอาการของคนที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ หายใจไม่อิ่ม ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ ผิวหนังซีด ตัวและตาเหลือง หัวใจเต้นเร็ว ตับหรือม้ามโต เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะไตวายและเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษา อาการเหล่านี้จะกลับมาหายเป็นปกติ จนกว่าจะได้รับยาหรืออาหารบางชนิดที่ต้องห้ามอีก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่