กรมควบคุมโรคเตือน!! โรคมือเท้าปาก ระบาดช่วงเปิดเทอม - Amarin Baby & Kids
โรคมือเท้าปาก

กรมควบคุมโรคเตือน!! โรคมือเท้าปาก ระบาดช่วงเปิดเทอม

Alternative Textaccount_circle
event
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก

สธ.เตือน!! โรคมือเท้าปาก ระบาดช่วงเปิดเทอม โดยในปี 2563 นี้ พบผู้ป่วย 6,202 รายแล้ว โดยพบมากสุดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ปกครองควรสังเกตอย่างใกล้ชิด

กรมควบคุมโรคเตือน!! โรคมือเท้าปาก ระบาดช่วงเปิดเทอม

นอกจากการระมัดระวังและป้องโรคติดเชื้อโควิด 19 แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังควบคู่ไปด้วยคือ โรคหน้าฝน โรคที่มักจะมีการระบาดในหน้าฝนทุก ๆ ปี ซึ่งตรงกับช่วงเปิดเทอมของลูก ๆ นั่นเอง และในปีนี้ โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ โรคมือเท้าปาก โดยทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ให้เฝ้าระวัง และป้องกันโรคมือเท้าปาก ดังนี้

วันนี้ (26 มิถุนายน 2563) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดภาคเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาจมีกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใกล้ชิดกันมาก ประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรระมัดระวังไม่ให้เด็กป่วย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แล้ว ยังมี โรคมือเท้าปาก ที่ผู้ปกครองและครูควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุด นั้น กรมควบคุมโรค จึงขอให้ผู้ปกครองและครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ด้วย

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วย 6,202 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุเด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ โดยโรคมือ เท้า ปากจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ

มือเท้าปาก
มือเท้าปาก

รู้จักโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

โรคมือเท้าปากติดต่อได้อย่างไร

เชื้อไวรัสชนิดนี้ แพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

อาการของโรคมือเท้าปาก

เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง

โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาและป้องกัน โรคมือเท้าปาก

เนื่องจากโรคนี้จะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองใน 1 สัปดาห์ การรักษาจะยึดตามหลักการรักษาตามอาการ คือ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ยกเว้นเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

และเนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายในเด็กเล็ก ผู้ปกครองและสถานศึกษาจึงควรป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่ระบาด ดังนั้น นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค จึงได้แนะนำแนวทางการป้องกันโรคมือเท้าปาก ดังนี้

ผู้ปกครองและครูควรช่วยกันดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการคล้ายโรคมือเท้าปาก ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย และผู้ปกครอง ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม และขอแนะนำวิธีป้องกัน โรคมือเท้าปาก และโรคโควิด 19 ดังนี้

  1. ให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็ก ก่อนมาสถานศึกษา หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน

  2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้

  3. หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม

  4. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น

  5. จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นกลุ่มย่อย แบบเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร

  6. หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค

จะเห็นได้ว่าแนวทางการป้องกัน โรคมือเท้าปาก และโรคโควิด 19 ที่ทางกรมควบคุมโรคได้แนะนำมานั้น สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหารและการหายใจอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น การปลูกฝังนิสัยให้เด็ก ๆ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิธีสังเกต อาการมือเท้าปาก และ วิธีดูแลรักษาลูกโดยไม่ต้องแอดมิด

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

หมอเตือน!! ส่าไข้ ระบาดหนักในเด็กเล็ก ระวังชักจากไข้สูง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : hfocus.org, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up