โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มต้น เป็นอย่างไรต้องรู้ เริ่มระบาดอีกครั้ง หากสงสัยลูกติดรีบพบแพทย์ รักษาเร็วอาการน้อย หวั่นเชื้อใหม่รุนแรงถึงขั้นเด็กสมองอักเสบ!!
โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มต้น เฝ้าระวังเชื้อใหม่แรงกว่าเดิม!!
เปิดเทอม หน้าฝน เด็กเล็ก โรคระบาด คีย์เวิร์ดที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจ เมื่อเข้าสู่หน้าฝน สารพันโรคระบาดก็ผุดขึ้นแข่งกันเป็นว่าเล่น อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเปิดเทอมที่มีเด็ก ๆ รวมตัวกัน การป้องกันโรคระบาดในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องที่ยาก และหากพูดถึงโรคระบาดยอดฮิตที่มาพร้อมกับคีย์เวิร์ดเหล่านี้แล้วละก็ คงหนีไม่พ้นต้องนึกถึง โรคมือเท้าปาก เป็นแน่
หมอแล็บฯ เตือนโรคมือเท้าปากระบาด เริ่มพบเชื้อ EV71 ทำให้เด็กสมองอักเสบ
12 กรกฎาคม : หมอแล็บแพนด้า โพสต์ข้อความโรคมือเท้าปากระบาดอีกแล้ว ช่วงนี้เด็กๆ ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากกันเยอะเลยล่ะครับ หลายบ้านตอนนี้กำลังเป็นอยู่
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส เด็กที่เป็นมักจะมีผื่น แผล หรือตุ่มใสตามฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ในปาก ดูภาพประกอบได้ 55555 ถ้าเด็กเริ่มมีอาการป่วยต้องไปพบแพทย์เสมอ อย่าเดาโรคเอาเอง ระยะหลังๆ มานี้ เริ่มพบเชื้อที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นที่ชื่อว่า EV71 ทำให้เด็กเล็กสมองอักเสบได้
ที่มา : Thairath on Instagram
โรคมือเท้าปากติดต่อง๊าย…ง่าย!!
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี71 (EV71) นี่เอง นับเป็นโรคที่ระบาดในเด็กโรคหนึ่งที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง ประเทศไทยเราก็พบเชื้ออีวี71 ร่วมกับเอนเตอโรไวรัสตัวอื่น ๆ ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยรุนแรง
โรคนี้ติดต่อง่ายมาก เพียงแค่การสัมผัสสารคัดหลั่งจาก น้ำมูก น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก การดูแลสุขอนามัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
มือเท้าปาก ชนิดไม่รุนแรง และรุนแรงจากเชื้อ EV71 สังเกตอย่างไร?
เด็กที่เป็นโรคมือ-เท้า-ปาก มักเริ่มด้วยอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้
- น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน
- มีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขาได้
- ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์
- ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้
โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อEV71 จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น
สัญญาณอันตราย อย่ารอช้า รีบพบแพทย์ด่วน!!
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกแสดงอาการตามสัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้ อย่ามัวนิ่งนอนใจคิดว่าลูกเป็นแค่โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มต้น ไม่รุนแรง หายเองได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- เด็กมีอาการซึม อ่อนแรง
- ชักกระตุก
- มือสั่น เดินเซ
- หอบ อาเจียน
โดยหากเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อย่างก้านสมองอักเสบ จะทำให้ภาวะหายใจ และระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้ง เชื้อ EV71 ที่ทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือเท้าปากได้เลยด้วยซ้ำไป
ในประเทศไทยแม้ส่วนใหญ่จากสถิติที่พบมาจะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรปัจจุบันเริ่มพบเชื้อ EV71 ในบางรายแล้ว ทางที่ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม
การรักษาโรคมือ-เท้า-ปาก
โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต และยังเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น และปฎิบัติตามขั้นตอนการป้องกันต่างๆ ดังนี้
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กต้องดูแลสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่สัมผัสผ้าอ้อม
- ไม่ใช้ช้อนป้อนอาหารเด็กร่วมกัน ควรสอนให้เด็ก ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่นเด็กด้วยน้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้ เช่น สบู่ หรือผงซักฟอก แล้วตากให้แห้ง
- ระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกอย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก
- สภาวะแวดล้อมในห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
- เด็กที่ป่วยจะต้องแจ้งทางโรงเรียน และหยุดเรียนจนกว่าแผลจะหาย โดยปกติประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ไม่ควรพาไปโรงเรียน หากพบว่าเป็นโรคนี้ควรให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และ เมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้ นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นเมื่อเด็กหายป่วยแล้ว ยังต้องมีการระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกนาน ควรเน้นการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหารแก่เด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพราะแอลกอฮอลล์เจลจะฆ่าเชื้อเอนเตอโรไวรัสไม่ได้
วิธีการป้องกันการระบาดในสถานรับดูแลเด็กหรือโรงเรียนชั้นอนุบาล
- มีการตรวจคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่น หรือมีแผลในปาก ไม่ให้เข้าเรียน ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยบางคนที่มีอาการน้อยมาก หรือมีบางคนที่มีอาการไข้แต่ไม่มีผื่น ควรต้องจัดหาเครื่องมือวัดอุณหภูมิ (ปรอท) ไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในกรณีที่สงสัยว่าเด็กจะมีไข้ และมีครูหรือพยาบาลตรวจรับเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน
- ควรมีมาตรการในการทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน หรือเมื่อมีการเปื้อนน้ำลาย น้ำมูกหรือสิ่งสกปรก
- มีมาตรการเคร่งครัดในการล้างมือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ดูแลสัมผัสเด็กเล็ก โดยเฉพาะในทุกครั้งที่อาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ การใช้แอลกอฮอลล์เจลล้างมือ ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้
- หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย ควรพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนด้วย เพื่อหยุดการระบาด
ขอขอบคุณรูปภาพ และข้อมูลอ้างอิงจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวม 14 ยาสีฟันเด็ก ยี่ห้อไหนดี กลิ่นหอมน่าใช้ แปรงฟันสะอาด พร้อมวิธีเลือกซื้อยาสีฟัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่