ฟ้าครึ้ม ๆ ฝนลงเม็ดทีไร พาโรคร้ายมาด้วยทุกครั้ง หนึ่งในโรคฮิตที่แพร่ง่าย ติดได้ไว เด็กเล็กต้องระวัง มือ เท้า ปาก !!!
มือ เท้า ปาก หน้าฝน ระบาดหนัก!
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ระวังโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะทารกหรือเด็กเล็กที่เรียนอยู่ เพราะในสถานศึกษา เด็ก ๆ ติดโรคกันได้ง่าย สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตอาการลูกทุก ๆ วัน หมั่นทำความสะอาดของเล่นของใช้ และถ้าลูกอยู่ในวัยที่ต้องไปสถานศึกษา หากเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคนอื่น ๆ ติดโรคมือ เท้า ปาก ไปด้วย สำหรับสถานการณ์ โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 กันยายน 2563 พบผู้ป่วย 9,442 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กแรกเกิด-4 ปี (ร้อยละ 84.37) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี (ร้อยละ 4.29) และอายุ 5 ปี (ร้อยละ 4.25) ตามลำดับ
จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- นราธิวาส
- ยะลา
- น่าน
- เชียงราย
- แม่ฮ่องสอน
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค แจ้งเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองให้ระมัดระวังโรคร้ายในช่วงฤดูฝน โดยกล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนและสถานศึกษาอยู่ในระหว่างเปิดเทอม เปิดการเรียนการสอน ในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จนอากาศเย็นลง ทำให้เกิดความชื้นที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ในหน้าฝนอย่างนี้ โรคที่ต้องระมัดระวังคือ โรคมือ เท้า ปาก เพราะเป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงนี้
ช่วงอายุที่พบโรคมือ เท้า ปาก ได้บ่อย
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเจ้าตัวน้อยมีภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
การติดต่อของโรค มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน
รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อ มือ เท้า ปาก
หากลูกได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย ตั้งแต่มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก และตุ่มพองเล็ก ๆ ก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น ที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น เด็กเล็ก ๆ ก็จะเจ็บมากจนทานอะไรไม่ได้ ทำให้มีอาการซึม ร่วมกับการร้องไห้งอแงด้วยความเจ็บปวด
8 อาการของโรค มือ เท้า ปาก ที่ต้องรีบพาลูกไปหาหมอ
- ไข้สูง
- ซึม
- อ่อนแรง
- ชักเกร็ง
- มือสั่น
- เดินเซ
- หายใจหอบเหนื่อย
- อาเจียน
วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
- พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของเด็กก่อนมาสถานศึกษา หรือไปโรงเรียน ในส่วนสถานศึกษา ก็ต้องคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน หากพบเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
- ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของคนที่ป่วย หรือเมื่อเด็กที่ติดเชื้อไปจับของเล่น ของใช้ ก็จะทำให้เชื้อกระจายไปสู่สิ่งของเครื่องใช้หรือของเล่น ส่งต่อเชื้อร้ายสู่เด็กคนอื่นได้ ดังนั้น หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อโรคได้ หรือทำความสะอาดของเล่นของใช้บ่อย ๆ
- หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
- ให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือ ลดการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่น พ่อแม่และครูต้องคอยย้ำสอนถึงวิธีล้างมือที่ถูกต้อง ให้สะอาดหมดจด เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก และเชื้อโรคอื่น ๆ
- จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นกลุ่มย่อย โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
- หากพบเด็กป่วย ขอให้ครูอาจารย์แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านหรือไปโรงพยาบาล ส่วนพ่อแม่เอง ถ้าลูกป่วยควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
เพียงทำตามวิธีป้องกัน ก็จะช่วยป้องกันโรคร้ายได้มากมาย ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ อย่าลืมนะคะ ต้องคอยสังเกตอาการลูกทุก ๆ วัน อย่างใกล้ชิด ถ้าลูกมีอาการไข้ขึ้นสูง ซึม เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่เป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อ้างอิงข้อมูล : https://ddc.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
โรคไหลตายในทารก SIDS สาเหตุสำคัญ พร้อมวิธีป้องกันทารกหลับไม่ตื่น
RSV อาการ เป็นแบบไหน ไวรัสอาร์เอสวี เกิดจากอะไร หน้าฝนทีไรมาทุกที