โรคมือเท้าปาก เกิดจากสาเหตุ?
สำหรับโรคนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเรียกมือเท้าปาก นั่นก็เพราะว่าหลังจากที่เด็กไม่สบายตัวอยู่ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นก็จะเริ่มมีอาการเป็นไข้หลังจากติดเชื้อ 3-4 วัน เด็กจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ ฯลฯ และในเวลาต่อมาก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้าก่อน จากนั้นก็จะขึ้นผื่นที่ปากมีแผลในปากด้วย โดยผื่นที่ขึ้นเริ่มแรกมักขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร
อาการโรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงโรคมือเท้าปากที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เป็นมือเท้าปากมักมีอาการรุนแรงมาก
มือเท้าปาก มีการติดต่อของโรคได้อย่างไร?
- จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส
- จากอุจจาระของคนที่มีเชื้อก่อโรคนี้
- จากการสัมผัสของเล่น หรือจากพื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ
- จากการกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
- จากสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
การรักษาโรคมือเท้าปาก ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงโรคได้ ที่ทำได้คือการเฝ้าระวังและรักษาตามอาการของผู้ป่วยเท่านั้น เช่น หากมีอาการเจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ เด็กดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ คุณหมอก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ส่วนหากในเด็กที่มีอาการอ่อนเพลียมาก ส่วนมากจะให้นอนให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับการให้ยาลดไข้แก้ปวดอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และจะมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจไปพร้อมด้วยกัน
ทั้งนี้หากสังเกตว่าลูกป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก อาการ แย่ลงโดยมีภาวะอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาหมอเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อ การเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ
การป้องกันโรคมือเท้าปาก สามารถทำได้อย่างไรบ้าง?
เป็นที่ทราบกันดีว่ายังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกัน หรือรักษาอาการของโรคมือเท้าปากได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคมือเท้าปากให้กับลูกได้ ด้วยการดูแลรักษาความสะอาดในเรื่องของสุขอนามัยให้กับลูก ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้มีคำแนะนำใน การป้องกันโรคมือเท้าปาก ที่สามารถปฏิบัติกันได้ ตามนี้
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
- เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
- รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
- หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย[2]
อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปาก อาการ เริ่มต้นจะคล้ายๆ ไข้หวัด จากนั้นลูกจะเริ่มมีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผล
หากอยู่ที่โรงเรียนต้องไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับเพื่อน ซึ่งคุณแม่ควรเตรียมกระติกน้ำให้ลูกโดยเฉพาะ และควรกำชับลูกหรือคุณครูที่โรงเรียนว่าไม่ให้ลูกใช้กระติกน้ำ หรือแก้วน้ำร่วมกับเพื่อน ฯลฯ เห็นแบบนี้แล้วพ่อแม่ก็ควรกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะหากลูกเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว อาจรักษาไม่หายเสี่ยงเสียชีวิตได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย จาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โรคไข้เลือดออก วิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกัน!
โรคเฮอร์แปงไจน่า : โรคระบาดน่ากลัว กลุ่มเดียวกับโรค มือ เท้า ปาก
อันตราย!! 8 โรค ที่แถมมาจากโรงพยาบาล ต้องระวังโรคอะไรบ้าง?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1]เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กช่วงเปิดเทอม. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. www.riskcomthai.org
[2]โรคมือเท้าปาก. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. www.bumrungrad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่