เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลใจว่าสงกรานต์ปีนี้ หรือปีต่อๆ ไป ไม่อยากให้ลูกเล่นน้ำเปียกชุ่มฉ่ำไปทั้งตัว เพราะเดี๋ยวจะป่วยไข้นั้น ลองมาดูคำแนะนำในการเฝ้าระวังดูแลให้ความสำคัญกับการเล่นน้ำของเด็กๆ ที่ รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[1] มีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
น้ำแบบไหนที่ไม่ควรนำมาสาดเล่น?
การเล่นน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีของไทยที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม นับว่าเป็นความฉลาดของคนไทย ตั้งแต่ครั้งโบราณนำน้ำมาเล่นกันเพื่อคลายร้อน อย่างที่ทราบว่าสมัยก่อนเราเล่นน้ำสงกรานต์กันก็ไม่ได้เล่นด้วยความรุนแรง ซึ่งในปัจจุบันการเล่นก็รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมาก เล่นกันรุนแรง เล่นสาดน้ำเอาน้ำใส่ถุงพลาสติกและขว้างปากัน เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาหรือเกิดอุบัติตามมาก็อาจมีได้ การเล่นสงกรานต์ควรใช้น้ำสะอาด เช่น น้ำประปา แต่ว่าในบางครั้งอาจจะหาน้ำประปาไม่ได้ ถ้าใช้น้ำตามแม่น้ำ ลำคลอง ที่ดูค่อนข้างใส สะอาด และไหลเวียนดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาถ้าเราเล่นด้วยความระมัดระวัง แต่น้ำที่สกปรก เช่น น้ำครำ น้ำตามคู หรือน้ำตามข้างถนน ที่ไม่สะอาดไม่ควรนำมาเล่นกัน[1]
ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าน้ำไม่สะอาดและเกิดมีอาการสำลักหรือกินเข้าไป เบื้องต้นควรทำอย่างไร?
หากน้ำที่เราเล่นกันไม่สะอาด ถ้าน้ำเข้าตาก็ต้องล้างตาด้วยน้ำที่สะอาด ในกรณีที่สำลักน้ำเข้าทางปาก ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อและลักษณะของน้ำ ถ้าน้ำมีเชื้อโรคไม่มาก ก็คงไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าในกรณีที่น้ำสำลักเข้าทางจมูก ก็คงจะต้องรอดูว่ามีอาการไข้ น้ำมูกไหล หรือปวดศีรษะหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเราสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำสะอาดในการเล่นสงกรานต์[1]
เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้ทริปสงกรานต์นี้หมดสนุกลง เพราะเด็กๆ หรือพ่อแม่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมากลางคันช่วงวันหยุดสงกรานต์ ก็ขอให้เล่นน้ำกันอย่างระมัดระวัง แหล่งน้ำที่เอามาเล่นสาดใส่กัน ขอให้เอามาจากแหล่งน้ำที่สะอาด ที่สำคัญไม่ควรผสมสี ผสมแป้ง หรือใส่ก้อนน้ำแข็งลงไปแช่ในน้ำนะคะ เพราะเล่นน้ำเย็นจัดๆ ไม่ต้องรอหลายวัน แค่วันเดียวไข้หวัดก็ถามหาแล้วค่ะ ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้ และอีกทุกๆ ปีตลอดไป ขอให้ทุกคนนึกถึงมารยาทในการเล่นน้ำ เพื่อให้ประเพณีอันดีงามของไทยเรานี้จะได้อยู่เป็นเอกลักษณ์ที่งดงามสืบต่อไปในรุ่นต่อรุ่นกันนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ลูกมีกลิ่นปาก สัญญาณบอกโรคที่ต้องระวัง!
ผิวลูกไหม้แดด ช่วงหน้าร้อน ดูแลอย่างไรดี?
ผดร้อนในทารก อาการทางผิวหนังจากอากาศร้อน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[1]รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไรปลอดภัย. www.si.mahidol.ac.th