อากาศร้อน ๆ ไม่ใช่ไม่อันตราย ใครที่ร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke โรคที่อันตรายถึงชีวิตหากเกิดกับเด็กเล็กและคนท้อง!!
Heat Stroke อันตรายกับเด็กและคนท้องอย่างไร?
โรคลมแดด (heat stroke) เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ โดยมีรายงานว่าทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10-50 และผู้รอดชีวิตอาจมีความพิการทางระบบประสาทอย่างถาวรร้อยละ 7-20 โรคลมร้อนเป็นภาวะที่อุณหภูมิแกนของร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) ร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการสับสน เพ้อ ชักเกร็ง ซึม หรือหมดสติ และอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายทุกระบบได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาทันที เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดและสามารถฟื้นคืนสู่สภาพร่างกายที่ปกติได้
Heatstroke อันตรายต่อเด็กและคนท้องอย่างไร?
สำหรับแม่ท้อง ร่างกายจะเผาผลาญอาหารได้ดีกว่าคนทั่วไปถึง 20% จึงมักทำให้มีเหงื่อออกมาก เมื่อเจออากาศร้อนจัดอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ความดันต่ำ ฯลฯ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาการจะหนักขึ้น จนกลายเป็นเพ้อ ชัก ไตล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค และเกิดลิ่มเลือดอุดตันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดกับตัวเองได้ เด็กเล็กจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ หากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้
จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเป็นโรคลมแดดได้ หากทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งตอนที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน แต่กับบุคคล 3 กลุ่มนี้อาจต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นั่นคือ ในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะด้วยร่างกายแล้วไม่สามารถทนกับความร้อนได้มากและนาน ทำให้ง่ายต่อการเกิดภาวะลมแดด
แม่ท้องต้องสังเกต!! โรคลมแดดมีอาการอย่างไร? และสัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง!!
ในเบื้องต้น เด็กและแม่ท้องจะมีอาการคล้าย ๆ กับคนที่เจออากาศร้อนทั่วไป คือมีเหงื่อออกมาก แต่โรคลมแดดนั้นจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- รู้สึกผิวหนังร้อนและแห้ง หน้าแดง
- มีอาการกระหายน้ำมาก
- ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลึก
- อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาจถึง 108 ํ F
- เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที อาจทำให้มีผลต่อระบบไหลเวียน การทำงานของระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ซึ่งจะเข้าสู่สัญญาณอันตราย ดังนี้
- มีไข้สูง (อุณหภูมิแกนสูงกว่า 40.5oC)
- เกิดภาวะขาดเหงื่อ (ไม่มีเหงื่อออก)
- การทำงานของระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ เช่น เป็นลม, กระวนกระวาย, พฤติกรรมผิดปกติ, ก้าวร้าว, ประสาทหลอน
- ชีพจรเบาและไม่สมํ่าเสมอ หายใจตื้น กล้ามเนื้อเกร็งตัว ชัก รูม่านตาขยาย การเคลื่อนไหวและสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ได้
- หมดสติ ถ้าผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเทาคล้ายสีขี้เถ้าแสดงว่าใกล้ถึงภาวะหัวใจหยุดทํางาน
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้มีอาการ Heat Stroke
เบื้องต้น หากมีอาการไม่มาก ให้ผู้มีอาการนั่งพักผ่อนในที่ ๆ อากาศถ่ายเท ที่ร่ม และดื่มน้ำมาก ๆ แต่ในรายที่เข้าสู่ภาวะขาดเหงื่อแล้ว ให้ปฐมพยาบาล ดังนี้
- นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
- เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
- ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
เด็กและแม่ท้องต้องป้องกัน!! อย่าให้ Heat Stroke มาทำลายชีวิต!!
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจหลีกเลี่ยงอากาศสุดร้อนในเมืองไทยได้ ทั้งแม่ ๆ และแม่ท้องจึงต้องป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคลมแดดได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ ๆ มีแดดจัด ๆ หรือที่ ๆ มีอาการร้อนจัด ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ นั้นนานจนเกินไป และพยายามอยู่ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทเสมอ
- ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม แนะนำให้จิบน้ำบ่อย ๆ และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด เพราะยิ่งอากาศร้อนมาก การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ทำให้เข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว
- ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
- หากแม่ท้องต้องการเดินทางไกล ในที่ ๆ มีอากาศร้อน ควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางด้วยเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนหรือเป็นลมเมื่อเจออากาศที่ร้อนจัดภายนอก
เพราะประเทศไทย แทบทั้งปีก็มักจะมีอากาศร้อน ยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด ๆ สำหรับเด็กเล็กและแม่ท้อง ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มักจะเจ็บป่วยได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น และหากเจ็บป่วยขึ้นมาก็มักจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น แม่ ๆ และแม่ท้องจึงต้องรู้เท่าทันโรคต่าง ๆ ที่มักจะเกิดในหน้าร้อน เพื่อรับมือและป้องกันต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณะสุข, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่