2.ได้รับเชื้อทางเพศสัมพันธ์
เป็นช่องทางสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในวัยผู้ใหญ่ โอกาสในการติดเชื้อสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมากถึง 100-200 เท่า เพราะปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ น้ำหล่อลื่น สูงกว่าไวรัสเอชไอวีมาก
วิธีป้องกัน หากคู่ของคุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อีกฝ่ายควรรีบฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะโอกาสติดเชื้อมีค่อนข้างสูง
3.ได้รับเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น การเจาะ การฝังเข็ม การสัก หรือการใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หากทำไม่ถูกวิธี ก็ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้ทั้งสิ้น เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถทำลายได้โดยการนำเข็มจุ่มแอลกอฮอล์เพียงระยะเวลาสั้นๆ
4.ได้รับเชื้อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
หากมีบาดแผลอยู่ หากต้องสัมผัสโอบกอด หอมแก้ม หรือจูบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้บาดแผลนั้นสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง จึงมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ
รับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ติดเชื้อหรือไม่?
การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสมีปริมาณน้อย แต่เพื่อความไม่ประมาท ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ และแปรงสีฟัน เป็นต้น
อาการ โรคไวรัสตับอักเสบบี
1.ชนิดเฉียบพลัน
มักเป็นผู้ที่ติดเชื้อในตอนโตหรือวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยมักปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก เหนื่อยง่าย มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการจุกแน่นบริเวณซี่โครงด้านขวา และจะเริ่มสังเกตเห็นว่าสีปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติ ตัวเหลือง และตาเหลือง ควรรีบพบแพทย์
การรักษา แนวทางการรักษาจะเป็นการประคับประคองตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หากคลื่นไส้ อาเจียนมาก อาจจะต้องให้น้ำเกลือ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่น มัน หรือรสจัด เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นมาได้ และไม่ควรดื่มน้ำหวานปริมาณมากๆ เพราะจะเกิดไขมันพอกตับแทน รับประทานอาหารบ่อยครั้งจะได้มีสารอาหารนำไปต่อสู้กับไวรัสได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้นอนช่วงพักกลางวันประมาณ 15-30 นาทีเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว มิฉะนั้นช่วงเย็นจะอ่อนเพลียมากกว่าปกติ