ใครๆต่างรู้ดีว่า ยาสมุนไพร ใช้รักษาโรคได้ แต่คงมีพ่อแม่ไม่กี่คนที่เลือกมาใช้รักษาโรคให้ลูก บ้างไม่มั่นใจว่าลูกกินยาแล้วจะหายหรือไม่ หายช้าไม่ทันการณ์ ขณะที่อีกหลายคนไม่กล้ารักษาด้วยยาขนานนี้ เพราะกลัวเสี่ยงต่อการแพ้ยา จึงเลือกรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ที่มีราคาสูง และให้ผลเร็วแต่อาจมีสารเคมีสะสมจนเกิดอาการแพ้ได้
ยาสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาเกิดจากความรักและหวังดีของบรรพบุรุษที่ต้องการส่งต่อวิธีรักษาอาการป่วยเล็กน้อยๆ ด้วย “ยาจากธรรมชาติ” รอบตัว หากลองนึกดูดีๆ มียาสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของลูกน้อยมาตั้งแต่เกิด เช่น มหาหิงค์ แก้ท้องอืดหรือ ยาเขากุย แก้ร้อนใน เป็นต้น
ยาสมุนไพร ของดีไทยๆรักษาลูกหายป่วยได้แบบไหนบ้าง
แต่ก่อนที่คุณแม่จะใช้ ยาสมุนไพร มารักษาลูก ไม่ใช่ว่าจะใช้สมุนไพรสูตรใดก็ได้ คุณม่ควรเลือกเฉพาะยาสมุนไพรที่ถูกกำหนดให้อยู่ใน ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 เท่านั้น จึงจะปลอดภัย
ระวังไว้ ! 6 อาการห้ามใช้ยาสมุนไพรเด็ดขาด
-
มีไข้สูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
-
ถ่ายอุจจาระบ่อย อ่อนเพลีย มีมูกเลือด มีกลิ่นผิดปกติ
-
ปวดท้องรุนแรงและเป็นต่อเนื่อง
-
เป็นแผลปวด บวมแดง มีหนอง
-
เวียนหัว เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง
-
หมดสติ อาการแขนขาอ่อนแรง
เภสัชกรหญิงดวงแก้ว อังกูรสิทธิ์ เภสัชกรด้านแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้แนะนำวิธีการใช้ ยาสมุนไพร ในเด็ก ว่า “ขนาดยาสมุนไพรที่ใช้จะระบุเป็น “เม็ด” ตัวยาบางชนิดระบุว่าต้องกิน 2 เม็ดขึ้นไป ซึ่งทำให้คุณแม่กลัวว่าลูกจะได้ยาเกินขนาด ขอทำความเข้าใจว่า ยาสมุนไพร หรือยาลูกกลอน 1 เม็ด ไม่ได้มีแค่ตัวยาอย่างเดียว แต่ยังมีสารเสริม เช่น แป้ง น้ำผึ้ง เพื่อให้ปั้นเป็นเม็ดได้ บวกกับยาสมุนไพรทำจากธรรมชาติจึงมีฤทธิ์อ่อนกว่ายาเคมี
อย่าง ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย จำนวน 1 เม็ด (ลูกกลอน) มีน้ำหนักยารวมเพียง 100 มิลลิกรัมเท่านั้น จึงกำหนดให้กินมากกว่า 1 เม็ด ซึ่งจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักของเด็กเป็นสำคัญ สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวังคือ ต้องไม่ใช้ยาเกินขนาด และเลือกเฉพาะยาที่ใช้สำหรับเด็กเท่านั้น เพราะมีงานวิจัยรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว”
เตรียมยาสมุนไพรให้ลูกต้องทำอย่างไร
คุณแม่สามารถใช้ ยาสมุนไพร เพื่อรักษาอาการหรือบรรเทาความเจ็บป่วยเบื้องต้น คล้ายยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้เอง แต่ยาส่วนใหญ่มักเป็นผงหรือเป็นเม็ดลูกกลอน ซึ่งทารกและเด็กเล็กยังกินไม่ได้ จึงแนะนำให้ใช้คู่กับ “น้ำกระสายยา” เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดอกมะลิ เพื่อผสมกับยา ยาแต่ละชนิดใช้น้ำกระสายยาแตกต่างกันไป
หลักการผสมยาสมุนไพรกับน้ำกระสายยา จะต้องผสมในปริมาณพอเหมาะและป้อนให้ลูกทันที ไม่ทิ้งไว้นาน ทั้งนี้มีส่วนผสมบางอย่างที่ไม่สามารถใช้เป็นน้ำกระสายยาได้ นั่นคือ นม หรือน้ำแร่ เพราะดูดซึมตัวยาบางชนิดออกไปได้
อ่านต่อ ลูกท้องเสีย มีไข้ ไอมีเสมหะ กินยาสมุนไพรอะไรดี หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่