อันตรายของไส้เลื่อนในเด็ก
ข้อมูลจาก รศ. นพ. รวิศ เรืองตระกูล ระบุว่า โดยปกติแล้วอัณฑะกำเนิดขึ้นในบริเวณด้านหลังของช่องท้อง ในการเคลื่อนที่ของอัณฑะลงมาที่ถุงอัณฑะนี้จะมีการดึงรั้งให้เยื่อบุช่องท้องซึ่งคลุมด้านหน้าของอัณฑะเคลื่อนที่ตามอัณฑะออกมาด้วย อัณฑะจะลงไปในถุงอัณฑะ สมบูรณ์เมื่อทารกในครรถ์อายุประมาณ 8 เดือน หลังจากนั้นรูที่เกิดขึ้นจากถุงของเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมานี้ก็จะมีการปิดตัวและสลายไป การคงอยู่ของช่องทางซึ่งควรจะปิดได้ตามธรรมชาตินี้เองที่เป็นต้นเหตุของโรคไส้เลื่อนและโรคถุงน้ำที่อัณฑะตามมา
ไส้เลื่อนในเด็กนี้เกิดได้ในทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าเด็กผู้หญิง และเกิดขึ้นในข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กที่ครบกำหนด
อันตรายของไส้เลื่อนจะเกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนที่ลงมาในถุงไส้เลื่อนและมีการติดค้างของขดลำไส้ภายในสถานที่อันจำกัดของขาหนีบ จะทำให้เกิดการอุดกั้นของเลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ในส่วนที่ติดคา จนอาจจะทำให้ลำไส้เน่าตายได้
อาการของเด็กที่เป็นไส้เลื่อน จะมีประวัติว่ามีก้อนบริเวณเหนือขาหนีบและข้างหัวเหน่าเข้าๆ ออกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเบ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ ไอ หรือร้องไห้ก็ตาม ก้อนที่ออกมาจะยุบหายไปหมดเมื่อเด็กนอนหลับ
อันตรายที่สำคัญที่สุดของไส้เลื่อนก็คือไส้เลื่อนขาหนีบติดคา ในเพศชายมักจะเป็นลำไส้เล็กและถ้าเป็นในเพศหญิงมักจะเป็นรังไข่ ท่อนำไข่ หรือลำไส้เล็ก เข้ามาติดคาอยู่ในถุงไส้เลื่อน เมื่อมีอวัยวะออกมาติดคาในถุงไส้เลื่อนแล้ว การไหลเวียนโลหิตของอวัยวะนั้นก็จะถูกรบกวน ทำให้อวัยวะนั้นขาดเลือด เกิดการเน่าตายได้ เด็กจะร้องกวนเนื่องจากความเจ็บปวด ร่วมกับมีอาการอาเจียน