พฤติกรรมแหย่ ๆ แม้ว่าเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของเจ้าลูกจอมซน ลูกอยู่ไม่นิ่ง ก็ตามที แต่บางครั้งการแหย่ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้หากพ่อแม่ไม่ระมัดระวังให้ดี
รับมือ ลูกอยู่ไม่นิ่ง กับ 6 พฤติกรรม”แหย่ๆ”ของเด็กวัยซน!!
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยเริ่มคลาน เริ่มขยับร่างกายได้เอง พฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความปวดหัวแก่พ่อแม่ไม่น้อย นั่นคือ พฤติกรรมแหย่ ๆ ที่แม้ว่าไม่ใช่พฤติกรรมที่แย่ก็ตามที เพราะอย่างที่รู้กันว่าเด็กวัยนี้กำลังเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การที่เขาจะมีพฤติกรรมชอบแหย่ ไม่ว่าจะเป็น แหย่ปลั๊กไฟ แหย่สัตว์เลี้ยง แหย่รู หรืออีกหลาย ๆ การแหย่ก็ตามที ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ลูกกำลังทดลอง สังเกต และต้องการเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของเขา
แต่ในบางที พฤติกรรมการแหย่นี้ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ลูกจอมซน ลูกอยู่ไม่นิ่ง ได้เช่นกัน หากพ่อแม่ประมาท ละเลย วันนี้ ทีมแม่ ABK จึงของหยิบยกพฤติกรรมแหย่ ๆ ที่พ่อแม่ต้องระวัง และเตรียมรับมือเมื่อเจ้าตัวน้อยเข้าสู่วัยซน มาให้ได้เตรียมตัวก่อนเกิดเหตุร้ายกัน
ลูกแหย่ปลั๊กไฟ!!
ปลั๊กไฟ ของชอบของเด็กจอมซน เมื่อลูกอยู่ไม่นิ่ง อยากเรียนรู้ไปเสียทุกอย่าง ไฉนเลยที่เจ้ารูเล็ก ๆ ที่มีอยู่รอบบ้าน และที่สำคัญอยู่ในตำแหน่งไม่สูง พอที่จะทำให้เจ้าจอมซนใช้นิ้วน้อย ๆ แหย่ปลั๊กไฟ ให้พ่อแม่ต้องหวาดเสียวเล่น
วิธีเลือกปลั๊ก ป้องกันลูกชอบแหย่ปลั๊กไฟ
- ปลั๊กแบบมีม่านนิรภัยกันไฟดูด เป็นปลั๊กที่มีพลาสติกปิดเปิดเหมือนบานพับ อยู่ภายในคอยกั้นไม่ให้นิ้วเล็ก ๆ ของเจ้าจอมซนแหย่เข้าไปโดนกระแสไฟฟ้าโดยตรง บริเวณขั้วทองแดงได้
- ปลั๊กที่มีสวิตซ์เปิด-ปิด ในตัว โดยปลั๊กชนิดนี้สามารถตัดกระแสไฟโดยการปิดสวิสซ์ที่มีลักษณะเหมือนกับสวิตซ์เปิดปิดไฟ สามารถป้องกันอันตรายจากเด็กเล็กได้ หากไม่ใช้เราก็สามารถตัดวงจรไฟฟ้าไป และหากเกิดเหตุไม่คาดฝันก็สามารถตัดกระแสไฟได้ง่ายด้วยเช่นกัน
- ตัวปิดปลั๊กไฟป้องกันไฟดูด ตัวปิดนี้ทำจากวัสดุพลาสติกซี่งเป็นฉนวนกันไฟฟ้า สามารถป้องกันไฟดูดได้ โดยเสียบขาปลั๊กที่ทำมาเหมือนขาปลั๊กไฟไว้ที่ช่องเสียบปลั๊กที่ไม่ใช้ ก็ช่วยป้องกันลูกอยู่ไม่นิ่ง เจ้าจอมซน ไม่ให้แย่ปลั๊กได้
- ฝาครอบปลั๊กไฟ โดยส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ชนิดนี้จะใช้ในสถานที่ ที่ปลั๊กมักจะมีโอกาสโดนน้ำ หรือฝุ่นกระเด็นใส่ แต่ก็สามารถเลือกมาติดตั้งในบ้านที่คิดว่าอันตรายต่อลูกได้เช่นกัน โดยฝาครอบเปิดเมื่อใช้งานเท่านั้นเพื่อลดโอกาสในการสัผัสกระแสไฟจากปลั๊กได้
การป้องกันอุบัติเหตุจากไฟดูดในเด็ก
นอกจากพ่อแม่ต้องจัดการปลั๊กไฟให้มีความปลอดภัย ห่างไกลอันตรายที่จะเกิดกับลูกแล้ว ก็ยังมีข้อควรปฏิบัติอีกสักนิดเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ลูกมากยิ่งขึ้น
- พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
- จัดสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย เช่น ไม่วางรางปลั๊กไฟไว้ที่พื้น หรือที่ที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น
- เดินสายดิน และติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วภายในบ้าน
- สอนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับลูก เมื่อถึงวัยที่สามารถใช้งานได้
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกถูกไฟดูด
- หากโชคร้ายเกิดไฟดูดลูก พ่อแม่อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยทันที ให้ตัดแหล่งกำเนิดไฟฟ้าก่อน เช่น ถอดปลั๊ก ยกคัทเอาท์ลง แล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือตามลำดับ
- ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า หรือฉนวนกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้แห้ง เชือก สายยางพลาสติก หรือหนังสือพิมพ์ที่ม้วนเป็นแท่ง เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวเด็ก หรือคล้องตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดออกมา
- หากเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจ โดยนวดอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที พร้อมทั้งผายปอด โดยถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 1 คน ให้ทำการนวดหัวใจ 30 ครั้งและผายปอด 2 ครั้ง แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คนให้ทำการนวดหัวใจ 15 ครั้งและผายปอด 2 ครั้ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือตามหน่วยกู้ ถ้าไฟดูดไม่มาก เด็กยังมีสติ พูดโต้ตอบได้ ก็ควรตรวจตามร่างกายว่ามีบาดแผลใด ๆ หรือไม่ และนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
ลูกแหย่ สัตว์!!
ข้อดีของการเลี้ยงสัตว์นั้นมีหลากหลายด้านที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง เช่น ฝึกให้ลูกรู้จักการเอื้อเฟื้อ สอนความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เลี้ยงตัวเอง หรือเพิ่มความมั่นใจให้ลูกได้ แต่ขึ้นชื่อว่าสัตว์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงของที่บ้านเอง หรือสัตว์ที่ลูกไม่คุ้นเคยก็แล้วแต่ พ่อแม่ควรระมัดระวังเมื่อเจ้าตัวน้อยยังไม่สามารถเข้าใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่บ้านก็ตาม
ข้อควรระวัง
- แม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงที่บ้าน และเชื่องมากแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่ควรไว้ใจมากจนปล่อยให้เด็กอยู่กับสัตว์ตามลำพัง พ่อแม่ควรอยู่ด้วยเสมอเวลาลูกเข้าใกล้สัตว์เลี้ยง
- ห้ามลูกป้อนอาหารสัตว์ เพราะหากสัตว์ตัวนั้นหิว แล้วรู้สึกไม่ทันใจอาจงับมือ หรือหน้าลูกเอาได้
- สอนให้ลูกมีเมตตากับสัตว์ ไม่แหย่หรือแกล้ง เพราะหากมันหงุดหงิดอาจกลับมาทำร้ายลูกได้
- นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา เพราะลูกอาจเสี่ยงรับเชื้อโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียได้
- ดูแลสัตว์เลี้ยงให้สะอาดเสมอ
ฟังข้อควรระวังแล้วพ่อแม่อาจรู้สึกว่าน่ากลัวจนไม่อยากเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าหากใช้ความรอบคอบและรู้จักดูแลเรื่องความปลอดภัยแล้ว ในบ้านก็จะมีสัตว์เลี้ยงน่ารักอยู่ร่วมกับทุกคนได้อย่างมีความสุข
ลูกแหย่ ของเข้าจมูก!!
วิธีการเรียนรู้ของเด็กวัยซนนี้ เมื่อเจอสิ่งของที่ตกตามพื้น หรือบางทีพ่อแม่อาจลืมวางของชิ้นเล็ก ๆ ไว้ใกล้มือของลูก เด็กก็มักจะหยิบขึ้นมาชิม เอาเข้าปาก หรือแหย่เข้าจมูกของตัวเอง เป็นอันตรายที่ควรระมัดระวังอย่างที่สุด ซึ่งพ่อแม่สามารถรับมือได้อย่างง่าย ๆ เพียงแค่คอยระมัดระวังไม่วางสิ่งของโดยเฉพาะของชิ้นเล็ก ๆ ไว้ที่พื้น หรือที่ ๆ ลูกสามารถหยิบได้ หมั่นสังเกตตรวจตราในบริเวณที่ลูกคลานให้สะอาด ไม่มีของวางไว้
ข้อควรปฏิบัติ…เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแล้วจริง ๆ พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเวลาลูกมีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
- ตั้งสติ อย่าพึ่งโวยวายจนทำให้ลูกตกใจ จนอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม
- ใช้มือปิดรูจมูกอีกข้างแล้ว ให้ลูกทำแบบการสั่งน้ำมูกออกมา เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดออกมาเอง แต่ใช้ได้ในกรณีที่ของนั้นหลุดเข้าไปไม่ลึก สามารถมองเห็น และเด็กรู้วิธีการสั่งน้ำมูกแล้ว
- ห้าม!!! พยายามใช้คีม หรือเครื่องมือต่าง ๆ คีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาเอง เพราะอาจทำให้ลูกตกใจ โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะดิ้นเวลาเราคีบจนอาจจะดันให้หลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม ถ้าเข้าไปลึกถึงหลอดลม หรือปอด อาจทำให้ไปอุดตันหลอดลมจนเสียชีวิตได้
- กรณีที่สั่งน้ำมูกแล้ว หรือประเมินดูแล้วว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นอยู่ลึก หรือไม่มั่นใจ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ในทันที
ลูกแหย่ พัดลม!!
พัดลมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กชอบ และให้ความสนใจเสมอ ลูกมักจ้องเวลามันทำงาน และอาจเกิดความสงสัยจนนำนิ้วเข้าไปแหย่ดู ซึ่งนับว่าเป็นของอันตรายที่ต้องระวังใกล้ตัวเลยทีเดียว นอกเหนือจากพัดลมที่พบเจอบ่อยแล้ว บานพับประตู หน้าต่างก็ควรระวังไม่ต่างกัน แต่หากเกิดเหตุการณ์เลวร้าย ถึงขั้นนิ้วขาด ให้พ่อแม่ตั้งสติ แล้วรีบเอานิ้วนั้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ ใส่ในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น จึงค่อยใส่ในกระติกน้ำแข็ง แล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยทันที
ข้อควรระวัง อย่าเอานิ้วที่ขาดสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อตายจนไม่สามารถต่อได้
ลูกแหย่ ของเข้าหู!!
พฤติกรรมนี้นอกจากจะคอยระวังไม่ให้ลูกนำของเข้าหูด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นการเตือนพ่อแม่ที่ชอบใช้ก้านสำลีเเข้าไปทำความสะอาดในหูของลูกด้วยเช่นกัน หากต้องการทำความสะอาดหูของลูก แนะนำให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดรอบ ๆ ใบหูของลูกจะดีกว่า การแหย่ของเข้าหู การแคะหู อาจทำให้เกิด “แก้วหูทะลุ” ได้ อาการของการแก้วหูทะลุ คือเป็นไข้ ปวดหู และมีหนองไหลออกจากหู มีลักษณะเป็นๆ หายๆ และจะไม่ค่อยปวดมาก แต่ส่งผลให้การได้ยินลดลงตามมา หากไม่มีการติดเชื้อซ้ำซ้อนจะสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 เดือน โดยไม่ต้องรักษา
แหย่ ที่ไม่ใช่การแหย่
“เฮ้ย! เจ้าอ้วน ไปกินอะไรมาเนี่ย?…เดินคับซอยเลยนะ (หัวเราะ)”
หากกล่าวถึงพฤติกรรมการแหย่ มีด้วยกันสองความหมาย ความหมายที่นอกเหนือจากการเอานิ้วมือ หรือปลายไม้จิ้มแยงเข้าไปแล้ว ยังมีความหมายถึงการยั่ว หยอกเย้าให้เกิดความรำคาญได้
การหยอกล้อหรือแหย่เด็ก (Teasing) เป็นพฤติกรรมการแสดงออกโดยทั่วไปที่ผู้ใหญ่มักใช้ในการสร้างสีสันและความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าตาหรือท่าทางประหลาดๆเพื่อล้อเลียน การตั้งชื่อหรือฉายาในทางขำขัน การเล่นหยิกแก้มหรือจั๊กจี้เอว การเล่นแย่งอาหารหรือสิ่งของกัน เป็นวิธีการสร้างความใกล้ชิดและความสัมพันธ์กับเด็กภายใต้ขอบเขตของการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทั้งสองฝ่าย
แม้ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามและโดยความตั้งใจของผู้ใหญ่แล้วดูจะเป็นการแสดงความรู้สึกดีๆ ต่อกันเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อใดที่การหยอกล้อไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโตได้ข้ามเส้นแบ่งความสนุกไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจ โกรธหรืออับอาย และไม่สนุกไปด้วยกันอีกแล้ว เมื่อนั้นการแหย่เด็กโดยไม่คิดให้รอบคอบและระมัดระวังถึงผลกระทบต่อเด็กที่ตามมามากมายจึงไม่ใช่วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกต่อไป
การหยอกล้อโดยไม่คิดหน้าคิดหลังดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมการเข้าสังคมของเด็กใน 3 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
- ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ เด็กที่ตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน หรือมีความฝังใจในเรื่องใดๆ มักไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองในทิศทางที่เหมาะสมได้ บางคนฉุนเฉียวและโมโหง่าย บางคนอยู่กับความกลัวและวิตกกังวล บางคนอยู่กับความทุกข์ใจ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
- ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การแหย่ทำให้เด็กคิดไปว่าตัวเองไร้ค่า ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง มีแต่คนแกล้ง และทำให้ขาดความมั่นใจในที่สุด
- มีพฤติกรรมเลียนแบบ โดยปกติของเด็กแล้วการเลียนแบบผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ถือเป็นงานอย่างหนึ่งของเด็กวัยเรียนรู้ เมื่อเด็กเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การหยอกล้อเพื่อความสนุกที่เกินเลยไป การข่มขู่คุกคามบุคคลรอบตัวด้วยสำคัญผิดว่าเป็นความสนุก เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก sahndesign.com/Rama channel/sanook.com/paolohospital.com/กรมสุขภาพจิต
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ง๊าย..ง่าย 2 วิธีติดตั้งคาร์ซีท ให้ถูกต้องปลอดภัยกับลูก ตั้งแต่แรกเกิด – 7 ขวบ
อันตรายจาก ประทัดระเบิด สอนลูกให้ระวังไว้ วัยซนเสี่ยงเจ็บสูง!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่