การรักษาโรคโบทูลิซึม1
ผู้ป่วยที่อาการแสดงน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคโบทูลิซึม จะต้องได้รับการรักษาล่วงหน้าไปก่อนได้รับวินิจฉัยยืนยันว่า อาการเกิดจากโรคนี้ เนื่องจากการรอผลการตรวจหาพิษ Botulinum toxin เพื่อยืนยันใช้เวลามากกว่า 1 วัน หากรักษาล่าช้า จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสีย ชีวิตได้ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น
- การให้ยาต้านพิษ ในผู้ป่วยที่ไม่ใช่เด็กทารก จะให้สารต้านพิษ Botulinum toxin ซึ่งผลิตจากเซรุ่มที่ได้จากม้า (Equine antitoxin) แต่สำหรับเด็กทารก แพทย์จะให้ยาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) ซึ่งผลิตจากเซรุ่มของคน (Human botulism immune globulin) เนื่องจากการให้ Equine antitoxin พบว่าไม่สามารถรักษาได้ นอกจากนั้น การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ก็พบ ว่า ไม่มีประโยชน์เช่นกัน
- การรักษาแผล โดยจะรักษาในผู้ป่วยที่มีบาดแผล ปากของบาดแผลที่แคบจะต้องถูกเปิดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปสัมผัสกับบาดแผลให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้เชื้อนี้ไม่ผลิตพิษขึ้นมาอีก และให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียนี้ในผู้ป่วยที่มีบาดแผลด้วย แม้ว่าประ โยชน์ที่ได้รับยังไม่ชัดเจนก็ตาม
- การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเฝ้าติดตามระบบการหายใจ โดยหากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือการสวนทวารช่วย หรือหากมีอาการ ท้องอืด แน่นท้อง ก็ต้องใช้ยาลดอาการ หรือใส่สายให้อาหารและดูดเอาอากาศและน้ำย่อยออกมา หรือผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก ก็ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
ทั้งนี้ พิษ Botulinum toxin จะไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องแยกห้อง ยกเว้นในกรณีของอาวุธเชื้อโรค ที่จะต้องจำกัดบริเวณของผู้ป่วย จนกว่าจะอาบน้ำสระผมให้สะอาด เพื่อกำจัดพิษที่อาจติดอยู่ตามผิวหนังและเส้นผม ซึ่งบุคคลอื่นที่เข้าใกล้อาจหายใจเอาพิษเข้าไปได้ รวมทั้งเสื้อผ้า สิ่งของ ของใช้ผู้ป่วย ต้องถูกห่อในถุงพลาสติกให้มิดชิด จน กว่าจะนำไปซักด้วยผงซักฟอกให้สะอาดด้วยเช่นกัน
โดยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากอาหารคือ ประมาณ 5-10% ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย และในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการมีบาดแผล อัตราการเสียชีวิตจะมากกว่า คือประมาณ 15-17% และสำหรับในเด็กทารก โอกาสเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมจะน้อย คือน้อยกว่า 1%
การดูแลตนเอง และป้องกันโรคโบทูลิซึม2
- การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคโบทูลิซึม คือ ไม่แนะนำให้เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี บริโภคน้ำผึ้ง ยกเว้นจะนำไปปรุงเป็นอาหารที่ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 116 องศาเซลเซียส ร่วมกับการเพิ่มความกดอากาศขณะปรุง เช่น การตุ๋น หรือการอบ เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อโรคโบทูลิซึมที่อาจปนเปื้อน
- หลีกเลี่ยงการหมัก การดองทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เนื้อปลาต่างๆ ด้วยตน เอง หากต้องการทำ ควรเตรียมอาหารและภาชนะที่จะใส่ ให้สะอาด ใส่กรดมะนาวที่ความเข้ม ข้นมากกว่า 0.65% หรือใส่เกลือแกงให้เข้มข้นมากกว่า 3% และเก็บรักษาอาหารไว้ในตู้เย็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารหมักดองที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หากจะบริโภค จะต้องนำของหมักดองเหล่านั้นไปต้มให้เดือด 100 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อทำลายพิษที่อาจมีอยู่
- สำหรับการซื้ออาหารกระป๋อง รวมถึงนมผง หรืออาหารสำเร็จรูปที่พร้อมทาน ต้องเลือกจากบริษัทผลิตที่เชื่อถือได้ และดูจากฉลากว่ามีเครื่องหมาย อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่ชัดเจน บริโภคก่อนวันหมดอายุที่ระบุบนฉลาก และไม่เลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีรอยบุบ รอยแตก รอยรั่ว บวม โป่ง เป็นสนิม
- มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันพิษ Botulinum toxin ซึ่งสามารถป้องกันพิษชนิดย่อย A ถึง E แต่ประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจน และอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ (เช่น การแพ้ยา) การให้วัคซีนจึงจำกัดให้เฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้เท่านั้น เช่น ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับพิษชนิดนี้ หรือในกรณีมีการปล่อยอาวุธเชื้อโรคที่เป็นพิษชนิดนี้
ดังนั้นแล้วหากจะให้ลูกได้รับสิ่งที่มีประโยชน์จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ลูกน้อยสามารถกินได้หรือไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- มื้อแรกของลูก อาหารเสริมตามวัย เริ่มอย่างไรจึงจะดี?
- ข้อสรุปสำหรับพ่อแม่ เรื่องการแพ้อาหารในเด็ก
- 7 เมนูอาหารและขนม สำหรับเด็กแพ้อาหาร
- 10 สุดยอด “อาหารบำรุงสมอง” ลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th
1,2 haamor.com (โรคโบทูลิซึม)