การที่ลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า การร้องไห้ของลูกเกิดจากสาเหตุใด ลูกร้องไห้เพราะ กลัว หิว ง่วง หรือเพราะ อาการโคลิค
อาการโคลิค พ่อ แม่ เตรียมรับมืออย่างไร?
อาการโคลิคเป็นอย่างไร สาเหตุของการเกิดอาการ มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุเท่าไหร่ จะสามารถป้องกันได้อย่างไร เมื่อเกิดอาการแล้วรักษาอย่างไร อันตรายหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่คงเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้น เมื่อลูกร้องไห้ก็มักจะสงสัยว่าเกิดจากอาการโคลิคหรือไม่ ทีมแม่ ABK ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆมาให้คุณพ่อคุณแม่หายสงสัยกันแล้วค่ะ
อะไรคือ อาการโคลิค (COLIC)
อาการโคลิค คือ อาการของเด็กที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด พบบ่อยมากที่สุดในช่วงอายุ 4-6 สัปดาห์ มักจะเป็นไม่เกินอายุ 5 เดือน และหายได้เอง เกิดได้กับเด็กทั้งเพศชาย และเพศหญิง
เด็กที่เกิดอาการโคลิค มักจะร้องไห้เสียงดัง เสียงสูง หน้าท้องเกร็ง ร้องไห้ไม่หยุดนานนับชั่วโมง ปลอบให้หยุดได้ยาก มักจะเกิดอาการโคลิคบ่อยที่สุดในช่วงเย็น ช่วงค่ำ
แนะนำว่าให้ลองเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก เช่น คอยปลอบ ลูบหลัง ให้ฟังเพลงช้าๆ เบาๆ อาบน้ำอุ่น ให้ดูดจุกนม เล่นของเล่น พาไปเดินเล่นบริเวณนอกบ้าน พาไปนั่งรถเล่น ลองทำทีละอย่าง และสังเกตดูว่ากิจกรรมไหนที่ทำให้ลูกหยุดร้องเร็วขึ้น
สาเหตุของอาการโคลิค
ในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการโคลิค แต่ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เด็กเหนื่อย ถูกกระตุ้นบ่อยๆ เล่นเยอะ
- จากพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เลี้ยงยาก หรือเด็กที่พ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์
- มีลมหรือแก๊สมากในท้อง เนื่องจากมีการกลืนอากาศเข้าไปมากขณะดูดนม
- เด็กเรอออกมาน้อย ทำให้อากาศที่อยู่ในท้องมากจนเด็กมีอาการอึดอัดแน่นท้อง
- เด็กนอนในท่าไม่เหมาะสม
- เด็กดื่มนมมากเกินไป หรือน้อยเกินไป และการป้อนผิดวิธี
- ครอบครัวมีความเครียด หรือความวิตกกังวลมาก
- ความเครียดของแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลทำให้เกิดอาการโคลิคในเด็กได้
- เด็กมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น มีภาวะโรคกรดไหลย้อน หูอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
- มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
- เด็กกินอาหารพวกแป้งมากเกินไป ทำให้ลำไส้ย่อยแป้งไม่หมด จึงเหลือแป้งให้แบคทีเรีย (ในลำไส้) ย่อยแป้งที่เหลือ ทำให้เกิดเกิดแก๊สในลำไส้มาก เด็กจึงรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง
- เด็กมีการแพ้อาหาร หรือกินน้ำผลไม้บางอย่าง เช่น น้ำแอปเปิ้ล
- เด็กที่พ่อ แม่ มีปัญหาทางอารมณ์
- มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก โดยเฉพาะมีแบคทีเรียบางกลุ่มสัมพัมธ์กับการเกิดอาการโคลิก ซึ่งเมื่อลดแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวอาการโคลิกก็ลดลงได้
- เกิดการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกายเด็ก ทำให้เกิดอาการปวดท้อง
- การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการระคายเคืองของระบบประสาท
- มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องทำให้เกิดแก๊ซในท้องเยอะ
- ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้
ลูกร้องไห้เพราะอาการโคลิคหรือไม่
ลูกร้องไห้เพราะอาการโคลิค หรือเพราะป่วย พ่อแม่สามารถสังเกตุอาการได้ดังนี้
หากเด็กป่วย มักจะร้องทั้งวัน ไม่ร้องเฉพาะช่วงเวลา อีกทั้งยังมีอาการร่วมต่างๆ เช่น มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน ไม่ดื่มนม น้ำหนักไม่ขึ้น เป็นต้น
หากเด็กร้องเพราะโคลิค มักจะร้องแบบไม่ทราบสาเหตุ ปลอบให้หยุดยาก ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เช่น ดื่มนมได้ เล่นได้ สบายตัว แต่เมื่อถึงเวลาที่ร้อง ก็จะร้องไม่หยุดเป็นชั่วโมง โดยจะพบอาการได้บ่อยในช่วงเย็น ช่วงค่ำ
อาการแบบไหนควรพาลูกไปพบแพทย์
การที่ลูกร้องไห้ดูจะเป็นเรื่องปกติ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตุว่า ลูกมีพฤติกรรมในการกิน การนอน หรือการร้องไห้ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ และหากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- ร้องไห้หนักมาก ร้องนาน ร้องเสียงแหลม หรือกระสับกระส่าย
- อุ้มขึ้นมาและทารกตัวอ่อนปวกเปียก
- ไม่ยอมดื่มนม
- อาเจียนเป็นของเหลวสีเขียว ๆ
- อุจจาระเป็นเลือด
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน หรือมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุ 3–6 เดือน
- กระหม่อมบุ๋ม
- ตัวเขียว หรือผิวซีด
- มีอาการชัก
- มีอาการหายใจผิดปกติ
การรักษาอาการโคลิค
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการโคลิคโดยเฉพาะ เพราะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้อาการโคลิคจะดีขึ้น หรือหายได้เองเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 5 เดือน อย่างไรก็ดีมีความพยายามบรรเทาอาการโคลิคให้น้อยลง ดังนี้
- ในรายที่ลูกดื่มนมแม่ แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เด็กเกิดการแพ้อาหาร เช่น นมวัว
- ลดความเครียดภายในครอบครัว พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจว่า โคลิคเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว และสามารถหายได้เอง
- ในรายที่ลูกไม่ได้ดื่มนมแม่ ควรเลือกนมที่มีโอกาสแพ้ได้น้อย
- ขณะให้น้ำ หรือให้นมเด็กจากขวด ต้องระวังอย่าให้ลมเข้าไปในท้องขณะเด็กดูดนม โดยยกขวดให้นมหรือน้ำเต็มบริเวณจุก ไม่ให้มีอากาศเข้าไปได้
- หลังให้นมแล้ว ควรทำให้เด็กเรอ เพื่อไม่ให้เด็กปวดท้อง เนื่องจากลมในกระเพาะ
- ยาบางชนิดก็อาจช่วยได้ เช่น ไซเมทิโคน โดยหยดลงในขวดน้ำหรือป้ายที่นมแม่ก่อนให้นม ซึ่งจะช่วยลดแก๊สหรือกรดเกินในกระเพาะอาหารของเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ถึงปริมาณ และระยะเวลาในการให้ยา
ดูแลลูกอย่างไรเมื่อเกิดอาการโคลิค
เด็กร้องไห้เพราะต้ัองการสื่อสารบางอย่าง อาจเป็นเพราะเด็ก เหนื่อย กลัว หิว ป่วย หรือมีความผิดปกติในร่างกาย หากเด็กร้องให้อย่างหนักควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่
มีหลายวิธีในการรับมือกับลูกที่มีอาการโคลิค เด็กบางคนอาจใช้วิธีนี้แล้วร้องให้น้อยลง แต่เด็กอีกคนใช้วิธีเดียวกันไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ต้องทดลองว่าวิธีไหนจะดีที่สุดสำหรับลูกตัวเอง โดยลองปฏิบัติตามนี้
- ลองเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก เช่น คอยปลอบ ลูบหลัง ให้ฟังเพลงช้าๆ เบาๆ อาบน้ำอุ่น ให้ดูดจุกนม เล่นของเล่น พาไปเดินเล่นบริเวณนอกบ้าน พาไปนั่งรถเล่น ลองทำทีละอย่าง และสังเกตดูว่ากิจกรรมไหนที่ทำให้ลูกหยุดร้องเร็วขึ้น
- ตรวจสอบผ้าอ้อม หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป ว่ามีความเปียกชื้นมากเกินไปหรือเปล่า เด็กอาจร้องเนื่องจากไม่สบายตัว
- ตรวจสอบอุณหภูมิในห้อง เช็่คว่าหนาวหรือร้อนไปหรือไม่
- ป้อนนมให้อิ่ม
- การที่เด็กร้องไม่ใช่เพราะหิวเสมอไป บางครั้งเด็กอาจต้องการดูดอะไรบางอย่าง อาจให้ดูดจุกหลอกแทนได้
- อุ้มลูกในอ้อมแขนแล้วโยกเบาๆไปมา ให้ลูกรู้สึกได้ใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่ หรืออาจใช้เป้อุ่มเด็กช่วย แล้วพาลูกไปเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศภายนอก
- พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ ห้ามเขย่าให้เด็กหยุดร้อง เพราะอาจทำให้เด็กมีเลือดออกในสมองได้ถ้าเขย่าแรง
นวดผ่อนคลาย เพื่อลดอาการโคลิค
การนวดผ่อนคลาย เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากจะช่วยให้เด็กผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยขับลม และกระตุ้นระบบย่อยอาหารอีกด้วย ทั้งนี้สามารถนวดได้ทุกวัน ท่านวดมีดังนี้
- ท่าวนเป็นก้นหอย ใช้นิ้วมือแตะที่บริเวณสะดือแล้วนวดวนเป็นก้นหอย ทิศทางตามเข็มนาฬิกาจากด้านในออกสู่ด้านข้างหรือด้านล่างของลำตัว ไออุ่นของนิ้วมือจะช่วยให้ทารกผ่อนคลายและรู้สึกสงบลง
- ท่าเท้าแตะปลายจมูก เป็นท่าที่ช่วยไล่ลม โดยให้ทารกนอนหงาย งอเข่าเล็กน้อย จับฝ่าเท้าทั้ง 2 ชนติดกัน แล้วพยายามยกไปแตะที่ปลายจมูก
- ให้ทารกนอนในท่าบิดหมุน ให้ทารกนอนหงาย พยายามให้ช่วงตัวครึ่งบนราบติดพื้น เหยียดขาตรงหรืองอเข่าเล็กน้อย จับที่ปลายเท้าของทารก แล้วโยกไปมาจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ท่านี้อาจช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้
- ท่างอและยืดขา ให้ทารกนอนราบไปกับพื้น เหยียดขาตรง แล้วจับปลายเท้าของทารกขึ้นให้เข่างอไปแตะที่บริเวณกลางลำตัว ท่านี้จะช่วยไล่ลมได้เช่นเดียวกัน
- ท่านิ้วโป้งนวดวน ให้ทารกอยู่ในท่าที่สบาย แล้วใช้นิ้วโป้งนวดวนเป็นก้นหอยที่บริเวณฝ่าเท้าหรือฝ่ามือของทารก จะส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารและไล่ลมได้
การรับมือกับลูกที่มีอาการโคลิคนั้นไม่ง่าย แต่พึงระลึกไว้ว่าอาการดังกล่าวสามารถหายเองได้ หากคุณพ่อคุณแม่เกิดอาการเครียด อาจปรึกษาปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้อง ให้มาช่วยแบ่งเบาดูแลเด็ก และบทความนี้ที่ ทีมแม่ ABK นำมาฝาก คงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปบรรเทาอาการโคลิคของลูกอย่างได้ผลนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
กรมควบคุมโรคแนะ! 6 ขั้นตอนคัดกรองเด็กป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://www.ekachaihospital.com, https://www.samitivejhospitals.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่