ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A มีกี่สายพันธุ์ย่อย?
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง เพราะ สามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรม ระหว่างไวรัสของมนุษย์กับหมู หรือ นกและสัตว์ปีกต่าง ๆ ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีโอกาสระบาดในวงกว้าง และรุนแรงมาก จึงสามารถแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้หลายสายพันธุ์ โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีนที่พบบนผิวของเชื้อไวรัส โปรตีนดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (Hemagglutinin ตัวย่อ H) ซึ่งมีอยู่ 16 ชนิดย่อย (H1-H16) และนิวรามินิเดส (Neuraminidase ตัวย่อ N) ซึ่งมีอยู่ 9 ชนิดย่อย (N1-N9) ในการกำหนดชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จึงใช้ตัวย่อ H ควบคู่กับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายตัวย่อแต่ละตัวตามชนิดของโปรตีน เช่น
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (สายพันธุ์เก่า) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2461-2462 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 20-40 ล้านราย และเนื่องจากมีต้นตอจากประเทศสเปน จึงมีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” (Spanish) และกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งในปี พ.ศ.2520 ที่มีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย” เนื่องจากมีต้นตอมาจากประเทศรัสเซีย
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ 2009) พบการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ.2552 โดยเป็นสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ ประกอบไปด้วยสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมู สัตว์ปีก และคน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เก่า และมีต้นตอมาจากประเทศเม็กซิโก (เชื้อสามารถแพร่กระจายตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการ แพร่ได้มากที่สุดใน 3 วันแรกของการเจ็บป่วย และอาจแพร่ได้จนถึงวันที่ 7 ของการเจ็บป่วย)
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเอเชีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านราย ซึ่งพบในปี พ.ศ.2500-2501
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกง ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 7 แสนราย ซึ่งพบในปี พ.ศ.2511-2512
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 เป็นต้นเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกหลัก แต่ในช่วงที่ผ่านมาที่เคยเป็นข่าวดังก็เนื่องมาจากไวรัสสายพันธุ์นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการติดต่อมาสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ และมีความแรงสูง ทำให้เสียชีวิตได้ หรือที่เรียกว่า ไข้หวัดนก (Avian influenza) แต่ยังโชคดีตรงที่ว่าการติดต่อมาสู่คนนั้นไม่ง่ายนัก ต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก อีกทั้งการติดต่อจากคนสู่คนก็เกิดขึ้นได้น้อย จึงสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อชนิดนี้ได้
อาการของโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A ในเด็ก
อาการของเด็กจะคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา มีอาการเจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกใส ตัวร้อนแดง ตาแดง มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมักมีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน โดยจะเป็นไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่ ซึ่งอาจจะหายได้ในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในเด็กมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลวได้มากกว่าผู้ใหญ่
ส่วนในเด็กเล็กจะสามารถสังเกตได้จากอาการร้องไห้งอแง อยู่ไม่นิ่ง บางรายอาจมีอาการคัดแน่นจมูก ในเด็กทารกมักมีอาการง่วงซึมและไม่ค่อยดื่มนมหรือรับประทานอาหาร และอาจมีอาการหายใจลำบากได้
หากลูกมีอาการไข้สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน แม้ใช้ยาลดไข้แต่ยังคงมีไข้ที่สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก ผิวเริ่มเป็นสีม่วง ดื่มน้ำและรับประทานอาหารน้อย มีอาการซึม ไม่สบายตัว โดยอาจมีอาการมากกว่า 7 วัน แม้ว่าไข้จะลดแล้วแต่อาจยังหายใจหอบ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่