ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ทุกปี เปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย หมอแนะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยได้ รีบพา 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการได้ฟรี สะดวกมี 11 จุดฉีดทั่วกรุงเทพฯ
ไข้หวัดใหญ่ ระบาด แนะฉีดวัคซีนป้องกัน ฟรี 11 จุดทั่วกรุง
ไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่มีการจับตาเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ไข้หวัดใหญ่ ระบาด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของคนทุกเพศวัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้สูงอายุ ยิ่งในช่วงหน้าฝน และเปิดเทอม การกระจายของโรคยิ่งมากขึ้น เพราะเด็กติดโรคจากโรงเรียนและแพร่สู่คนอื่น ๆ ในครอบครัว ฉะนั้นพ่อแม่ควรรีบพาลูกเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อปกป้องสุขภาพของลูกรวมถึงคนในครอบครัวแต่เนิ่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการระบาด และยับยั้งโรค ด้าน ศาสตรจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
คนมักเข้าใจว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ร้ายแรงและสามารถหายได้เอง แต่จริง ๆ แล้ว แม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน แต่ละคนมีความรุนแรงแตกต่างกัน หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรับเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากมีไข้สูงนาน 24 – 48 ชั่วโมงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองในทันที เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไร จะยิ่งลดความรุนแรง อาการแทรกซ้อน และโอกาสที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นเช่นกัน
ไข้หวัดใหญ่คืออะไร? มีอาการอย่างไร? วิธีรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ flu) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง โดยเชื้อชนิดนี้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ โดยจะพบในวัยเด็กมากที่สุด และยังเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ได้แก่ จมูก คอ หลอดลม และปอด เหมือนการติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยเชื้ออาจจะมีการลามเข้าไปที่ปอด จนทำให้เกิดอาการปอดบวม และเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเนื้อเมื่อยตัว และปวดตามกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โรคไข้หวัดใหญ่นี้ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์
ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ โดยในแต่ละสายพันธุ์จะแบ่งตระกูลย่อยได้ออกมาอีกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็น H1N1 และ H3N2 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง มีการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยากกว่าชนิดอื่น ๆ เชื้อที่ตรวจพบในร่างกาย ยังสามารถเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้สูง ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนและติดเชื้อขึ้นมาได้
- ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็นตระกูล Victoria และ Yamagata เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคืออากาศเย็นและแห้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนในฤดูฝน จะมีไวรัสสายพันธุ์นี้ได้บ้าง กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการรับเอาเชื้อไวรัสเข้าไป ตามมาด้วยอาการที่รุนแรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี คนท้อง และผู้สูงอายุ
- สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะฟักตัว 1-4 วัน จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดร้อนบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา มีอาการเจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกใส ตัวร้อนแดง ตาแดง มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมักมีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน โดยจะเป็นไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และอาการแสบคอยังคงอยู่ซึ่งอาจจะหายในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
- ระยะที่มีอาการรุนแรงและอาจเกิดโรคแรกซ้อน อาจพบการอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่หน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย ในส่วนของระบบประสาทจะมีการพบเยื้อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ รวมทั้งสมองก็มีการอักเสบด้วยเช่นกัน
โดยอาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลงตามมา ในส่วนของระบบหายใจก็จะมีอาการอักเสบเกิดขึ้นกับหลอดลม และทำให้มีอาการปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย ส่วนระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดนั้นจะหายในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไอ และปวดตามเนื้อตัวนานถึง 2 สัปดาห์ อีกทั้งในกรณีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่จนถึงขั้นเสียชีวิต นั่นเป็นเพราะเกิดจากโรคแทรกซ้อนอย่างโรคปอดบวม และโรคหัวใจ หรือบางครั้งก็เกิดจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร?
เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นโดยการ ไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก ขยี้ตา ซึ่งระยะฟักตัวจะอยู่ประมาณ 1-4 วัน โดยที่เชื้อของไข้หวัดใหญ่นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดที่เรียกว่า ชนิด A ชนิด B และชนิด C ซึ่งแต่ละชนิดของเชื้อจะมีการแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อย ๆ อีกมากมาย
ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ป้องกันได้อย่างไร?
ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ มีวิธีปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคได้ดังนี้
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ในที่สาธารณะ ในกรณีเด็กเล็ก ควรสอนลูกให้ล้างมือบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้ป่วย
- หากป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ
- ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งขยะทันที เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับมือหรือแพร่กระจายในอากาศ
โรคไข้หวัดใหญ่นั้น มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาอยู่มาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ก็อาจมีอันตรายจากอาการแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้้นในช่วงที่ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนลูกให้รู้จักหลีกเลี่ยงและป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น และสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรระวังการแพร่เชื้อ เพื่อไม่ให้มีการระบาดหนักมากขึ้นไปอีก
ในช่วง ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปตามสถานที่ผู้คนพลุกพล่าน แออัด ที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ง่าย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหัดให้ลูกสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการหยิบจับและใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือให้เป็นนิสัย และเมื่อพบว่าลูกป่วยมีไข้ ไอ จาม ควรให้หยุดโรงเรียนทันที
ระหว่างพักฟืนที่บ้านหรือโรงพยาบาล ผู้ปกครอง รวมถึงคนมาเยี่ยมจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้เสมอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กป่วยโดยตรง เพื่อป้องกันการแพร่จายโรคสู่คนอื่นในครอบครัว ส่วนเด็กที่ได้รับการรักษาไข้หวัดใหญ่จนหายแล้ว ควรพักฟื้นอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ก่อน เพราะแม้ลูกจะไม่มีไข้แล้วแต่ยังมีเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งสามารถแพร่สู่เด็กคนอื่นได้
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยได้!!
แพทย์แนะนำให้พ่อแม่มีลูกเล็กวัยก่อนขวบ จนถึงวัยอนุบาลเร่งพาลูกไปรับวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันและรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อเด็กได้รับวัคซีนแล้ว จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 60-70 % นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วหากป่วยจะช่วยลดระยะเวลาการป่วยจาก 7 วัน เหลือเพียง 1-2 วันเท่านั้น ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปรับวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่สะดวก
เช็กจุดฉีดฟรี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 11 จุดฉีดทั่วกรุง
สำหรับ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม สามารถรับบริการ “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” ฟรี ประกอบด้วย
- หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งระหว่างรับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน)
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กก. หรือ ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก./ตรม.)
โดย 11 จุดรายชื่อโรงพยาบาลในสังกัด กทม.
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
- โรงพยาบาลคลองสามวา
- โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังสามารถจองวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
1.ลงทะเบียนผ่าน Application “เป๋าตัง”
2. จองสิทธิ์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ทั้ง 69 แห่ง
หรือกรณีไม่สะดวกลงทะเบียนผ่าน Application และสามารถเข้ารับบริการรูปแบบ Walk in ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือสูติบัตร (กรณีเด็ก) มาด้วยในวันรับบริการวัคซีน ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค.2565 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีกี่ชนิด?
ในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ตลอด เพราะเป็นเชื่อโรคที่กลายพันธุ์ได้ง่าย เพื่อนำข้อมูลมา สร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคในปีต่อ ๆ ไป ในแต่ละปีเชื้อที่ระบาดจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ปกครองจำเป็นต้องพาลูกน้อยเข้ารับวัคซีนทุกปี
การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ จากสายพันธุ์ Northern Strain เป็นสายพันธุ์ Southern strain และมีการเปลี่ยนเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนจาก 2 ใน 4 สายพันธุ์ ดังนี้
2021-2022 Northern Strain | 2022 Southern Strain |
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria(H1N1) | – ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria(H1N1) |
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Cambodia(H3N2) | – ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Darwin(H3N2) |
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Washington | – ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria |
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket | – ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket |
ในประเทศไทย พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถฉีดซ้ำได้ภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม หากลูกได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่จากสายพันธุ์ที่วัคซีนไม่ครอบคลุมก็มีโอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ รวมถึงโรคหวัด หรือไข้หวัดธรรมดาด้วย แต่การได้รับวัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ร่างกายเสียหายน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว จึงลดโอกาสการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตให้น้อยลง อีกทั้งช่วยสกัดกั้นไม่ให้ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา : www.phyathai.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, honestdocs www.thairath.co.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่