อันตรายจากโรคไส้เลื่อนในเด็ก
เนื่องจากเด็กเล็ก ไม่สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ ว่ามีอาการเจ็บหรือปวดตรงจุดไหน และสำหรับเด็กที่ไม่มีอาการใด ๆ หากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่ทราบได้ว่าเป็นโรคไส้เลื่อน จนทำให้อาการไส้เลื่อนเรื้อรัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากแรงดันที่ไปกดทับบริเวณที่อยู่โดยรอบลำไส้ที่เลื่อนออกมา หรือทำให้เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด อีกทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อน
วิธีการรักษาโรคไส้เลื่อนที่ดีที่สุด คือการรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้างควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ หากในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม อาทิ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขยายหลอดลมเพื่อลดอาการไอในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด หรือยาขับปัสสาวะเพื่อลดระดับของเหลวในช่องท้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะพิจารณาจากขนาดของไส้เลื่อน อายุ อาการของผู้ป่วย และชนิดของไส้เลื่อนที่เป็น เช่น เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัดรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เอง ทั้งนี้หากเด็กมีอาการของไส้เลื่อนที่ขาหนีบก็ควรได้รับการรักษาเร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ติดค้างมากขึ้น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลเรื่องการผ่าตัดไส้เลื่อนในเด็กนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิค่ะ การดมยาสลบในเด็กซึ่งไม่เคยมีโรคประจำตัวใด ๆ มาก่อนมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก ๆ นอกจากนี้ การผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไปภายในช่องท้องเพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น การผ่าตัดใช้เวลานาน 30 – 45 นาที และเมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี แพทย์ก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ยกเว้นเด็กจะมีอายุน้อยมาก ๆ เช่นเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีอายุน้อยมาก ๆ ในขณะที่ผ่าตัดหรือเด็กมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไต เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ก็ควรนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1 – 2 วันค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่แชร์! ลูก สะดือจุ่น ผิดปกติ สุดท้ายเป็นไส้เลื่อนสะดือ
6 อาหารต้านภูมิแพ้ ลูกแข็งแรงห่างภูมิแพ้ง่าย ๆ ด้วยอาหาร
ลูกไม่สบายท้อง รับมืออย่างไร ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : Pobpad, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่