ขอบคุณภาพจาก : www.wikihow.com
4. โรคติกส์ (Tics)
โรคติกส์ หรือ Tics มีอาการกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอกระตุกเป็นระยะ เด็กที่เป็นโรคนี้จึงมักขยิบตาหรือขยับปากบ่อยๆ ระดับอาการมีตั้งแต่กะพริบตาเล็กน้อย ไปจนถึงยักไหล่ ทำหน้าบิดเบี้ยว อยู่เฉยไม่ได้ และติกส์แบบมีเสียงหรือที่เรียกกันว่า “ทูเรทท์” (Tourette) เด็กกลุ่มนี้มักจะส่งเสียงเอะอะหรืออุทานเป็นคำไม่สุภาพ จึงเกิดเสียงและพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยควบคุมไม่ได้ แม้คุณพ่อคุณแม่จะดุด่าว่ากล่าวหรือขู่บังคับ เขาก็จะยังคงห้ามตัวเองไม่ได้อยู่ดี
5. โรควิตกกังวล
พื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เด็กวิตกกังวลจะมีพื้นฐานอารมณ์ปรับตัวช้า เช่น ไม่อยากไปโรงเรียนทุกครั้งที่เปิดเทอม เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับการไปโรงเรียนได้ แม้จะเป็นเพียงวันหยุดสั้นๆ แต่เมื่อถึงคราวต้องไปโรงเรียนอีกครั้งก็จะร้องไห้งอแงไม่อยากไป คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามหาวิธีหลอกล่อหรือทำข้อตกลงกับเด็กไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กส่วนใหญ่ก็จะรับปากอย่างดีว่าจะไปโรงเรียน แต่เมื่อตื่นเช้าวันไปโรงเรียนก็จะร้องไห้งอแงและไม่ยอมลุกจากที่นอนเหมือนเดิมทุกครั้ง เมื่อไปถึงโรงเรียนก็จะยังร้องไห้ต่อสักพักจึงจะปรับตัวได้ นั่นเพราะเด็กมีภาวะวิตกกังวลเรื่องของการปรับตัวหรือกังวลต่อการพลัดพราก ซึ่งหากลูกอ้างว่าไม่สบาย แล้วคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจให้เขาหยุดเรียนบ่อยครั้ง สุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็จะไม่ไปโรงเรียน ไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน และไม่ออกจากบ้าน จากที่เป็นเพียงปัญหาในวัยเด็กก็จะพัฒนาสู่การเป็นโรควิตกกังวลต่อไปในอนาคต
♥ บทความแนะนำควรอ่าน : ลูกชอบจิตตก กลัวไปโรงเรียนสาย
6. โรคย้ำคิดย้ำทำ
เป็นอีกโรคในกลุ่มวิตกกังวลเช่นเดียวกัน อาการที่แสดงออกมักจะคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ ส่งผลให้เด็กทำพฤติกรรมซ้ำๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ล้างมือ อาบน้ำ ดึงผม ลบสิ่งที่เขียนแล้วเขียนใหม่ซ้ำๆ ฯลฯ ซึ่งอาการดังกล่าวทำให้เด็กทำการบ้านไม่เสร็จ จัดการดูแลตัวเองได้ไม่ทันกำหนดเวลา เพราะมัวแต่ทำซ้ำเรื่องเดิมๆ
7. โรคซึมเศร้า
แม้จะยังอยู่ในวัยเด็ก แต่เด็กที่ได้รับพันธุกรรมโรคซึมเศร้ามาจากคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะป่วยได้ตั้งแต่วัยประถมปลาย แม้ครอบครัวจะเลี้ยงดูลูกอย่างดี ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ลำบาก ไม่มีปัญหาใดๆ ในชีวิตมากระทบจิตใจเลย แต่เด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอยู่ดีๆ เขาก็จะรู้สึกว่า “โลกไม่น่าอยู่” โดยไม่มีเหตุผล หรือวันดีคืนดีก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กไร้ค่า ไม่อยากมองใคร ไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากใช้ชีวิต แม้จะเรียนเก่ง ครอบครัวดี หรือมีฐานะการเงินดีแค่ไหนก็ตาม หรือเด็กบางคนมีพันธุกรรมแห่งความคิดมาก ในช่วงแรกอาจยังไม่ได้ป่วยเป็นโรค แต่เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้ากลุ่มสังคมที่โรงเรียน เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหากับเพื่อนได้ง่าย เช่น เพื่อนไม่ทำงานกลุ่ม เพื่อนไม่คบ เพื่อนไม่คุยด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดว่าเพื่อนไม่รัก เพื่อนรังแก ส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรซ้ำเติมว่าเขาอ่อนแอหรือเรียกร้องความสนใจ แต่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในภายหลัง
อ่านต่อ >> “11 โรคจิตเวชในเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่