อุทาหรณ์!! ลูกเล่นดิน-โคลน-ทราย เจอ พยาธิไชผิวหนัง!! - Amarin Baby & Kids
พยาธิไชผิวหนัง

อุทาหรณ์!! ลูกเล่นดิน-โคลน-ทราย เจอ พยาธิไชผิวหนัง!!

Alternative Textaccount_circle
event
พยาธิไชผิวหนัง
พยาธิไชผิวหนัง

แม่ฝากเตือน!! ช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกไปเล่นดิน โคลน ทราย และอย่าเดินเท้าเปล่า เพราะอาจเจอ พยาธิไชผิวหนัง!! เหมือนลูกของคุณแม่ท่านนี้

อุทาหรณ์!! ลูกเล่นดิน-โคลน-ทราย เจอ พยาธิไชผิวหนัง!!

ทีมแม่ ABK ขอนำอุทาหรณ์จากคุณแม่ Ouy Thipsuda ที่ได้ออกมาเตือนคุณแม่ท่านอื่นว่าในช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกไปเล่นดิน โคลน ทราย เพราะอาจเจอ พยาธิไชผิวหนัง เหมือนลูกของคุณแม่ โดยคุณแม่ได้โพสรูปพยาธิที่ขยับอยู่ใต้ผิวหนังของลูก และยังได้เล่าอาการและวิธีการรักษามา ดังนี้

ฝากเตือนแม่ ๆ ทุกบ้านช่วงนี้หลีกเลี่ยงให้เด็ก ๆ ที่บ้านอย่าไปเล่นดิน โคลน ทราย เพราะช่วงนี้พยาธิปากขอมากับน้ำกับสิ่งสกปรกเราไม่สามารถมองเห็นได้ #บ้านนี้เจอแล้ว 1 คน🥺

พยาธิไชผิว
พยาธิไชผิว

สำหรับอาการของน้อง น้องไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด เพียงแต่คันมากช่วงเป็น 2 – 3 วันแรก คุณหมอรักษาโดยการให้กินยาถ่ายพยาธิกับสะกิดตรงผิวหนังที่นูน ๆ และฉีดแอกฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ ค่ะ

โดยล่าสุด คุณแม่ได้มาอัพเดทอาการของน้องว่า อัพเดทอาการล่าสุดนะคะ รักษาโดยคุณหมอให้กินยาถ่ายพยาธิ+ฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ ขอบคุณแม่ ๆ ทุกบ้านที่ให้คำแนะนำมานะคะ🙏

แม่ ๆ ทุกคนคงสงสัยว่าพยาธิสามารถไชเข้าไปในผิวหนังได้จริงหรือ? ทำไมรอยโรคถึงน่ากลัว? และถ้าหากเป็นแล้วสามารถซื้อยารับประทานเองได้หรือไม่? มาหาคำตอบกันค่ะ

พยาธิไชผิวหนัง เกิดจากโรคอะไร?

สำหรับโรคที่เกิดขึ้นกับน้องนั้น เรียกว่า โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่พยาธิไชผ่าน เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง พยาธิสภาพและอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปอาฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น

ปรสิตที่เป็นสาเหตุ คือ

  • พยาธิปากขอของแมวและสุนัข Ancylostoma braziliense (พบบ่อยที่สุด), A. caninum, A. ceylanicum,
    A. tubaeforme, Uncinaria stenocephala, Bunstomum phlebotomum
  • พยาธิเส้นด้ายของสัตว์ Strongyloides papillosus (พยาธิของแพะ แกะ วัว), S. westeri (พยาธิของม้า)

ติดเชื้อได้อย่างไร?

ไข่ของพยาธิเหล่านี้ปะปนอยู่ตามดิน โดยเฉพาะดินทราย (clay soil) ในพื้นที่ที่มีอาการร้อนชื้น ดังนั้น เด็กเล็กที่คนเลี้ยงนำไปเล่นตามพื้นดินที่มีไข่ของพยาธิปะปนอยู่ หรือไปเล่นกับลูกสุนัข หรือแมว มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย โดยทานไข่ของพยาธิชนิดนี้เข้าทางปาก หรือคนที่เดินเท้าเปล่า พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะไชเข้าผิวหนัง หรืออาจจะติดตามตัวทาก โดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบาง ๆ เช่น ชุดว่ายน้ำ ได้

หรือบางรายจากการทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนฝังอยู่อย่างดิบ ๆ สุก ๆ ตัวอ่อนระยะที่สองของพยาธิชนิดนี้จะฟักออกจากไข่ ที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น และไชทะลุผ่านเยื่อบุผนังลำไส้คน เข้าสู่กระแสเลือดดำพอทัล (portal circulation) และไปที่ตับ กระแสโลหิตจะพัดพาต่อไปที่ปอด และเข้าสู่กระแสโลหิตทั่วร่างกายต่อไป

กลไกการเกิดโรค

ผู้ป่วยจะเกิดผื่นหลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังเข้ามาประมาณ 2- 50 วัน ตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน
เมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่โดยการไช จะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตรคดเคี้ยวไปมาผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 ซม. ตัวอ่อนของพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร อาจเกิดตุ่มน้ำตามแนวที่พยาธิไช อาจมีผื่นเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน ผื่นมักพบบริเวณที่ผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรง คือ มือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้น อาการร่วมที่สำคัญคือต้องมีอาการคันอย่างมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการทางผิวหนังมักจะเกิดใน 1-5 วันหลังสัมผัส และคงอยู่ได้นาน 2-14 สัปดาห์หรือนานเป็นปี อาการอื่น ๆ ที่อาจพบในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการทางปอด เช่น ไอ หรือ ผื่นลมพิษ

สำหรับตัวจิ๊ดการเคลื่อนที่ตัวอ่อนของพยาธิจะอยู่ในผิวหนังชั้นลึกกว่า จึงทำให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบและปวด ย้ายที่ไปมา ต่างกับกลุ่มพยาธิปากขอ เนื่องจากไม่ใช่ที่อยู่ของพยาธิเหล่านี้ ทำให้พยาธิไม่สามารถเติบโตเป็นตัวแก่ในคนได้ จึงไชอยู่ในผิวหนัง จนตายไปเอง หรือภูมิต้านทานของร่างกายมาจัดการหรือจากการรักษา

พยาธิไชผิวหนัง อันตรายไหม
พยาธิไชผิวหนัง อันตรายไหม

โรค พยาธิไชผิวหนัง รักษาได้อย่างไร?

ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์ – 2 ปี โดยไม่ต้องใช้ยารักษา หรือหากแพทย์พิจารณาการรักษาโดยการใช้ยา ยาที่ใช้รักษา คือ

  1. Ivermectin รับประทานครั้งเดียว หาย 81-100%
  2. ยาทา Thiabendazole ทาบริเวณผื่นวันละ 2-4 ครั้งนาน 2 สัปดาห์ให้ผลการรักษาดีเท่าการรับประทานยา
    ivermectin
  3. Thiabendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 2 วัน หายประมาณ 68-84% เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก
    คือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจึงไม่ค่อยนิยมใช้
  4. Albendazole รับประทานวันละหนึ่งครั้งนาน 3 วัน หายประมาณ 46-100%

ป้องกันไม่ให้ พยาธิไชผิวหนัง เข้าร่างกายได้อย่างไร?

เนื่องจากในประเทศไทยพบอัตราการเป็นโรคพยาธิปากขอสูงในแมวและสุนัข จึงมีโอกาสที่พยาธิปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้พยาธิไชเข้าร่างกาย ดังนี้

  1. อย่าเดินเท้าเปล่า ควรสวมรองเท้าเวลาเดินเสมอ
  2. หลีกเลี่ยงการนั่งหรือใช้มือสัมผัส ดิน โคลน ทราย ที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์
  3. ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน

หวังว่าอุทาหรณ์นี้จะช่วยเตือนแม่ ๆ ให้ระวังเมื่อลูกไปเล่น ดิน โคลน ทราย นะคะ ควรให้ลูกสวมรองเท้าเมื่ออยู่นอกบ้านเสมอ แม้จะเป็นพื้นหญ้าก็ตาม เพราะเราไม่รู้เลยว่าพื้นที่บริเวณนั้นอาจปนเปื้อนอุจาระของสุนัขหรือแมวหรือไม่ นอกจากนี้ควรให้ลูกล้างมืออยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แบคทีเรียกินเนื้อ ระบาดทั่ว จ.น่าน! หมอแนะอย่าย่ำน้ำลุยโคลน!!

ครูสอนเด็กเรื่อง “เชื้อโรคที่มือ” ผ่าน “ขนมปัง”

ลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะแม่ล้างมือไม่สะอาด

โรคเด็ก ที่พบบ่อย โรคในเด็ก ยอดฮิต พ่อแม่ต้องระวัง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณแม่ Ouy Thipsuda, ร.ศ.พ.ญ. กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผ.ศ.พ.ญ. จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล , สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up