อาการของโรค หัดในเด็ก
อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ก่อน แล้วจึงมีน้ำมูก มักไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกจะแดง ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3 – 4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดง ๆ ที่หลังหู ลามไปยังหน้า และร่างกาย ผื่นจะค่อย ๆ โตขึ้น และมีสีเข้มขึ้น สังเกตได้ว่าก่อนหน้าที่เด็กจะเป็น จะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้มและฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรค “หัด” เท่านั้น และจะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. พอผื่นออกได้ประมาณ 2 – 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจาก หัด
เพราะเชื้อไวรัสหัดจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เมื่อติดเชื้อหัดแล้ว จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น หูส่วนกลางอักเสบ (เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก), กล่องเสียงอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยหัด โดยถ้าพบตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้นหรือระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้น มักจะเกิดจากไวรัสหัดเอง หากพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอดส์ หรือสตรีตั้งครรภ์ มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
- ระบบประสาท เช่น
- สมองอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พิการ เป็นโรคลมชัก สติปัญญาด้อยลง
- ภาวะเนื้อสมองอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย เกิดจากการเสื่อมของสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านการเรียน สติปัญญาจะค่อย ๆ ด้อยลงไปเรื่อย ๆ มีอาการหลงลืม พร้อม ๆ กับมีพฤติกรรมที่แปลกไป จนถึงขั้นปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีอาการชักร่วมด้วย ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ติดเชื้อหัดจนถึงเริ่มต้นเกิดอาการคือประมาณ 10-11 ปี และตั้งแต่เกิดอาการจนถึงเสียชีวิตประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะนี้จะเป็นโรคหัดตอนอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ตาบอด ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการอาจรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบ, ท้องเดินจากไวรัส, ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ ตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
สำหรับแม่ท้องที่ป่วยเป็นโรคหัดในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารก ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่