ยาฝาแฝด หรือ ยารูปพ้อง-มองคล้าย”
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชกรชนบท ได้ให้ความรู้เรื่องยาฝาแฝด ว่า ความเหมือนกันเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย จนวงการเภสัชกรรมเรียก ยาคู่เหมือน หรือ ยาฝาแฝดนี้ว่า Look alike Sound alike หรือเรียกสั้นๆ ว่า LASA (ลาซา) “อนึ่งคือมีฉลากคล้ายกันจนคนดูไม่ออก หรืออ่านออกเสียงคล้ายกันจนคนแยกไม่ออก”
“ยกตัวอย่างยาชนิดเดียวกันแต่แรงต่างกัน เช่น ยากันชักขนาด 5 มิลลิกรัม กับ 10 มิลลิกรัม แม้ต่างกันนิดเดียวกันก็ออกฤทธิ์ต่างกัน หรือพาราเซตามอลไซรัปของเด็กเล็กกับเด็กโต ทำฉลากต่างกันแค่ของเด็กเล็ก-เปียสั้น เด็กโต-เปียยาว พ่อแม่ไม่ทันสังเกตก็ซื้อไป ทั้งๆ ที่ยาเด็กเล็กต้องมีความเจือจางกว่าเด็กโต แต่ถ้าได้ยาที่เข้มข้นเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อเด็กเล็กได้”
Must read : ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ
1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม
2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม
3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม
4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัม
จะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็ก
Must read : วิธีคำนวณปริมาณยาลดไข้เด็ก ที่ถูกต้อง
ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกัน ของ ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท
ปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน
อย่างไรก็ดี เพราะในท้องตลาดทุกวันนี้ มียาบรรจุเป็นซองบ้าง ขวดบ้าง ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกซื้อกันหลายร้อยยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็โฆษณาสรรพคุณใช้เป็นยาให้เด็กกินแก้อาการปวดหัวตัวร้อน เป็นหวัด ไอ ปวดท้อง ท้องเสีย และไข้ต่างๆ ที่พบกันเป็นประจำในครอบครัว ยาเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักวิธีการใช้ที่ถูกต้องก็จะได้ประโยชน์มากทีเดียว แต่ถ้าไม่รู้จักสรรพคุณอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังไม่รู้ว่ามีโทษอะไร หลงซื้อให้เด็กกิน ก็อาจเป็นโทษถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะยาที่โฆษณาว่าแก้ได้สารพัดโรค ซึ่งลงท้ายด้วย “มัยซิน” บ้าง “แรมติน” บ้าง “อูลิน” บ้าง หรือ “คลอริน” บ้าง มักจะเข้ายาประเภทคลอแรมเฟนิคอล และเตตร้าซัยคลีน ซึ่งเป็นยาที่ต้องระมัดระวังในการที่จะให้เด็กกินเป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุรแม่จำเป็นจะต้องซื้อยาให้ลูกกิน ก็ควรจะไต่ถามให้รู้ถึงคุณและโทษ ตลอดจนวิธีการใช้ให้ถูกต้องเสียก่อนเป็นดีที่สุด
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ยาแก้ไอ สําหรับทารก เลือกแบบไหน อย่างไรให้ลูกดี?
- ยาดมอันตรายจริงหรือไม่? ลดเสี่ยงเลี่ยงยาดม
- ยาอมแก้เจ็บคอ และบรรเทาอาการไอที่ถูกจัดให้เป็นยาอันตราย
- คนท้อง กินยาพาราเซตามอล เสี่ยงลูกเกิดมาสมาธิสั้น !!
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.chaladsue.com , www.pharmacy.mahidol.ac.th , patnews.wordpress.com , tv.bectero.com