แม้ว่าเหตุการณ์ เด็กหาย จะเป็นเหตุการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เกิดมากที่สุด แต่เหตุการณ์นี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ อ่านขั้นตอนว่าควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกหายไป เพื่อให้เจอเด็กได้เร็วที่สุด ก่อนจะเกิดเหตุไม่คาดฝัน
เด็กหาย!! ทำอย่างไรให้เจอเร็ว ไม่เกิดเหตุร้าย?
จากกรณีที่มีเหตุ เด็กหาย จนเป็นข่าวสะเทือนขวัญกันมาแล้วมากมาย ข่าวเหล่านี้เป็นอุทาหรณ์ให้คุณพ่อคุณแม่คอยระมัดระวังและคอยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น และวิธีป้องกันอีกอย่างหนึ่ง คือควรเรียนรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุนี้ขึ้นมาจริง ๆ เราควรจะทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้พบเจอลูกได้เร็วที่สุด การเจอลูกที่หายไป ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งปลอดภัยกับตัวเด็กเองมากเท่านั้น มาดูกันว่าเราควรทำอย่างไรบ้าง เมื่อลูกหายไป
10 วิธีปฏิบัติและรับมือเมื่อลูกหาย
-
ตั้งสติ
คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่รู้จักลูกตัวเองดีที่สุด ดังนั้นจึงต้องเป็นคนที่ตั้งสติให้ได้เร็วที่สุดเช่นกัน เพื่อเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่พบว่าลูกหายไป ได้แก่
2. แจ้งโรงพักในท้องที่ที่เด็กหายไป
สถานีตำรวจใกล้บ้าน เป็นหน่วยงานแรกที่ครอบครัวควรไปแจ้งความ กรณีเป็นเหตุเร่งด่วนหรือไม่ได้รับความสะดวกจากสถานีตำรวจท้องที่ สามารถไปแจ้งความเพิ่มเติมได้ที่
-
- ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี (ศ.ดส.) เฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โทร 02-282-1815
- กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ป.ดส.) ทุกกรณีทั่วประเทศ โทร 02-511-4874
บุคคลที่มีสิทธิในการไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ ตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีเรื่องคนหายพลัดหลงและประมวลวิธีพิจารณาความอาญา คือ บุคคลดังต่อไปนี้
-
- ผู้บุพการีได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
- ผู้สืบสันดานได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
- ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ของผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ
- สามี ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
3. ไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมงถึงแจ้งความได้
แจ้งความประสงค์กับตำรวจว่า จะแจ้งความลูกหาย ให้ตำรวจช่วยตามหา ไม่ใช่ขอลงบันทึกประจำวันไว้เฉย ๆ ถ้าตำรวจไม่รับแจ้งความ บอกหายไม่ถึง 24 ชั่วโมง ให้ครอบครัวอ้างอิงหนังสือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขที่ 0001(กม.1)/051 ลงวันที่ 10 มกราคม 2557 ลงนามโดย พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ว่าตำรวจต้องรับแจ้งความคนหายทันที ไม่มีเงื่อนไขด้านเวลา
4. เล่ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องและเหตุสงสัยให้ตำรวจฟังทั้งหมด
โดยนำข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลของลูก เพื่อให้ตำรวจสามารถช่วยตามหาได้ง่ายยิ่งขึ้น
5. ลงบันทึกประจำวัน
เสมียนประจำวันคดีลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนมอบสำเนาบันทึกประจำวันให้แก่ผู้แจ้ง (ในกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่มอบสำเนาบันทึกประจำวันดังกล่าวให้ ผู้แจ้งความต้องร้องขอ)
6. ขอพบฝ่ายสืบสวน
หากแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้ว ครอบครัวต้องไปพบตำรวจฝ่ายสืบสวนเพื่อให้ลงพื้นที่ออกติดตามหา ถ้าได้แค่ใบแจ้งความกลับบ้านโดยไม่ได้พบฝ่ายสืบสวน ส่วนใหญ่จะไม่มีกระบวนการติดตามหาในพื้นที่ ดังนั้นการไปพบฝ่ายสืบสวนสำคัญมาก
7. ขอดูกล้องวงจรปิด
การดูกล้องวงจรปิด ควรให้ตำรวจช่วยประสานให้ และครอบครัวควรไปดูพร้อมกับตำรวจด้วย เพราะครอบครัวทราบรูปพรรณของเด็กมากที่สุด
8. ขอข้อมูลการติดต่อของตำรวจเพื่อสอบถามความคืบหน้า
อย่าลืมขอชื่อ ยศ และเบอร์มือถือ ของตำรวจที่รับแจ้งความและตำรวจฝ่ายสืบสวนที่รับผิดชอบเรื่อง เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงาน และสอบถามความคืบหน้า
9. กรณีที่ไม่ได้รับความสะดวก
หากไม่ได้รับความสะดวกทุกกรณีบนโรงพัก ควรเข้าพบ ผู้กำกับการหรือหัวหน้าสถานีตำรวจนั้นๆ ได้ทันที ส่วนใหญ่เบอร์โทรผู้กำกับ ติดไว้บนโรงพักอยู่แล้ว
10. ขอคำปรึกษา
ขอคำปรึกษาและแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร 1599 และ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา โทร 0807752673 , 029732236-7
สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อ เด็กหาย คือคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง ถึงจะแจ้งความได้ เพราะยิ่งแจ้งความและออกตามหาช้า ก็จะยิ่งลดโอกาสในการหาเด็กเจอมากขึ้น เมื่อเราทราบวิธีรับมือเมื่อลูกหายแล้ว เราควรป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ เด็กหาย ด้วย โดยวิธีป้องกัน มีดังนี้
- สอนให้ลูกจำเบอร์โทรของแม่หรือพ่อให้ได้เผื่อฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ช่วยได้ทัน
- อย่ารับของคนแปลกหน้า เพราะมิจฉาชีพจะถือโอกาสทำความคุ้นเคย และนำพาไปสู่การลักพาตัว
- ตั้งรหัสลับของครอบครัว เช่น “หนูรักแม่” ซึ่งเราจะต้องบอกลูกไว้เลยว่า ถ้าไม่รู้รหัสลับห้ามไปด้วยเด็ดขาด
- อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว อย่าให้คลาดสายตา หรือ อย่าทิ้งลูกไว้ในรถคนเดียว เพราะอาจจะหายไปทั้งคนทั้งรถ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง โจรแจ้งตำรวจจับแม่!! โทษฐาน “ทิ้งลูกไว้ในรถ”)
- ถ่ายรูปล่าสุดทุกครั้งก่อนไปเที่ยว เพื่อให้มีข้อมูลของลูกที่อัพเดทที่สุด
- ก่อนเดินเที่ยว พาลูกไปรู้จักจุดประชาสัมพันธ์ก่อน หรือ ถ้าไม่มีให้พาไปจุดที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน
- สำหรับคุณแม่ที่พอมีกำลังทรัพย์ สามารถซื้ออุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เช่น สายจูง หรือเป้สายจูง คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย คล้าย ๆ กับจูงน้องหมาแต่อย่าไปสนใจ เพราะเวลาลูกหาย คนเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะช่วยเหลือเราได้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเราเป็นหลัก หรืออาจจะซื้อนาฬิกาที่มีระบบ GPS เปิดกล้องดูได้ จากโทรศัพท์แม่ บางรุ่นก็มีปุ่มให้ลูกกดโทรกลับมาให้แม่ หรือ อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณได้ โดยใช้ผูกติดกับของสำคัญของลูก สามารถตั้งระยะได้ว่า ถ้าลูกอยู่ไกลเกิน 5 เมตร เครื่องจะส่งสัญญาณมาที่โทรศัพท์ของแม่ เป็นต้น
สำหรับเด็กเล็ก แค่คลาดสายตาไปเพียงเสี้ยววินาที ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันและรับมือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ เด็กหาย ขึ้นมา จะช่วยให้เรามีสติในการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
3 วิธีดูแลและรับมือ เมื่อ ลูกถูกทำร้าย (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) พ่อแม่คือคนสำคัญ!
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา, www.posttoday.com, ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์, www.pptvhd36.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่