เมื่อคุณและลูก ติดโควิด ทำยังไง ? เปิดขั้นตอนการรักษาที่นี่
โควิด19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ติดง่าย ติดเร็ว แม้อาการไม่รุนแรง แต่พบผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อแตะหลักหมื่นกว่ารายทุกวัน จนเมื่อไม่นานมานี้ก็แตะหลักสองหมื่นรายต่อวันไปแล้วค่ะ หากว่าคุณและลูก ติดโควิด ทำยังไง จะต้องจัดการตัวเองอย่างไร ทีมแม่ ABK รวบรวมข้อมูล วิธีปฏิบัติตัวว่าหากติดเชื้อโควิด19 ว่าควรทำอะไรบ้าง? ติดต่อหน่วยงาน หรือโรงพยาบาลไหน อย่างไร? และหากอาการไม่รุนแรงต้องเข้า Home Isolation ต้องทำอย่างไร?
เมื่อคุณและลูก ติดโควิด ทำยังไง
ถ้ามีผลตรวจยืนยันแล้วว่าลูกหรือเด็กในบ้านติดเชื้อโควิด19 แบ่งได้เป็นหลายกรณี
กรณีที่ 1 ลูกติดเชื้อและคุณพ่อคุณแม่ติดเชื้อ สามารถเข้ารับการรักษาโดยเน้นจัดอยู่เป็นครอบครัว ไม่ควรแยกลูกออกจากคุณแม่
กรณีที่ 2 ลูกติดเชื้อ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel โดยลูกจะต้องถูกส่งตัวไปรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลหรือ Hospitel อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งการกักตัวสำหรับเด็กมีความซับซ้อนกว่าเคสของผู้ใหญ่ในเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องแยกห่างจากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง คุณหมอแนะนำว่า เมื่อลูกต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลควรมีคนเฝ้า เพื่อให้ไม่รู้สึกเคว้งคว้าง โดยผู้เฝ้าต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว
กรณีที่ 3 ลูกไม่ติดเชื้อ แต่คุณพ่อคุณแม่ติดเชื้อ ควรให้ญาติที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้ดูแลลูก หากไม่มีผู้ดูแลควรส่งลูกไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงเป็นการชั่วคราว
กรณีที่ 4 เกิดการระบาดเป็นกลุ่มในโรงเรียน หรือในเนิร์สเซอรี่ พิจารณาใช้พื้นที่เนิร์สเซอรี่เป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยดูจากความพร้อมของสถานที่และบุคลากรตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการเตรียมตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19
ผู้ที่ได้รับการยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย ส่วนใหญ่นั้นสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยผู้ป่วยจะต้องไม่อยู่กับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำค่ะ
สำหรับขั้นตอนในการเตรียมตัวเข้ารับการรักษา HI หรือโรงพยาบาลนั้น เตรียมตัวดังนี้ค่ะ
- เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
- ติดต่อ สายด่วน สปสช.โทร 1330 ได้ 24 ชม. , สายด่วน 1668 โทรได้ตั้งแต่ 08.00 – 22.00 น. หรือ สายด่วน 1669 ได้ 24 ชม. เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง
- หรือ กรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)
- งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)
- หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- สวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว
- บัตรประกัน (ถ้ามี)
- โทรศัพท์มือถือส่วนตัว พร้อมที่ชาร์จ รวมถึงเบอร์ติดต่อบุคคลสำคัญ
- ยารักษาโรคประจำตัว (ถ้ามี) รวมถึงบัตรนัดที่มีชื่อแพทย์โรงพยาบาลที่รักษาเป็นประจำ
- ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าอนามัย (สำหรับผู้หญิง), ขวดนม และผ้าอ้อม (สำหรับเด็ก), กระดาษชำระ, ไฟฉายหรือแบตเตอรี่สำรอง
- เสื้อผ้าสำหรับใส่เปลี่ยนในวันกลับ 1 ชุด
- เงินสดเล็กน้อย, บัตรเอทีเอ็ม, บัตรเดบิต, บัตรเครดิต
- หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ
- ถุงผ้าอเนกประสงค์ หรือถุงพลาสติก เพื่อใส่ของที่จำเป็น
ควรทำอย่างไรขณะรอรถมารับไปโรงพยาบาล
วิธีดูแลตัวเอง ขณะที่รอการรับการรักษาที่ รพ. ทำได้ดังนี้ค่ะ
- กักตัวในห้องแยกจากผู้อื่น ไม่อยู่กับใคร ในห้องแอร์ หากจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่นให้เปิดหน้าต่างไว้ให้อากาศถ่ายเท
- สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่ออกมานอกห้อง หรือต้องเข้าใกล้ผู้อื่น
- แยกของใช้ อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำ ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- แยกขยะ แยกการใช้ห้องน้ำ ถ้าไม่แยกให้ใช้เป็นคนสุดท้าย
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารสะอาด ตามหลักโภชนาการ ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
- ทำจิตใจให้สบาย ลดวิตกกังวล
- เมื่อใช้ลิฟต์ พกปากกา ไม้ลูกชิ้น เป็นที่กดลิฟต์ ไม่ยืนพิงลิฟต์หรือสัมผัสลิฟต์
- หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น ให้ติดต่อสายด่วน 1669 , 1668 , หรือโหลดแอปฯ EMS 1669 เพื่อกดเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน
- กรณีอยู่บ้านหรือคอนโด กรุณาแจ้งนิติบุคคล
เมื่อลูกติดเชื้อต้องกักตัวที่บ้าน
สำหรับลูกที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการและบรรเทาอาการที่บ้าน ได้แก่
- ปรอทวัดไข้
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้
- ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่
คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการโดยรวมของลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแบ่งระดับอาการ ออกเป็น 2 ระดับ
ระดับที่ 1 คือ อาการที่ยังสามารถสังเกตที่บ้านต่อไปได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารหรือนมได้ตามปกติ ไม่ซึม
ระดับที่ 2 คือ ระดับที่คุณพ่อคุณแม่ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำลูกไปส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร
ทางเลือกเพื่อเข้ารับการรักษาโควิดหากตรวจกับเอกชน
หากคุณพ่อคุณแม่อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน แล้วพบว่าติดเชื้อจากการเลือกเข้าตรวจกับห้องปฏิบัติการเอกชนเอง มี 2 ทางเลือกเพื่อเข้ารับการรักษาโควิด-19
ทางเลือกที่ 1 เข้ารับการรักษาโควิดฟรี
- เดินทางไปยังโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนที่รองรับสิทธิ์
- โทร 1669 หรือโทรเรียกรถพยาบาลโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านให้มารับ
- แจ้งประวัติให้ชัดเจน แจ้งสิทธิประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันวินาศภัย (ถ้ามี)
- ได้รับการรักษาตามสิทธิ์ค่าใช้จ่ายตามประกาศกระทรวง
- ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง อาจได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอลพิเทล ในกรณีที่เตียงในสถานพยาบาลมีจำกัด
ทางเลือกที่ 2 เข้ารับการรักษาโควิดกับโรงพยาบาลเอกชน
- โทรศัพท์แจ้งไปยังโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ให้ส่งรถพยาบาลมารับ หรือเดินทางไปยังโรงพยาบาล โดยแจ้งประวัติอย่างชัดเจน แจ้งให้ชัดว่ามารักษาโควิดก่อนเดินทางไป
- แจ้งสิทธิ์ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ ที่มี
- ได้รับการรักษาตามวงเงินในประกันวินาศภัยหรือประกันสุขภาพที่มี หรือใช้สิทธิ์จ่ายเอง
- ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือฮอลพิเทลในเครือข่าย กรณีที่สถานพยาบาลมีเตียงจำกัด
- นอกจากผู้ติดเชื้อที่ต้องปฏิบัติตัวในการเข้ารับการรักษาแล้ว บุคคลใกล้ชิดก็ต้องมีข้อปฏิบัติเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้จากมติล่าสุดของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ยังให้ถือว่าผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถปฏิเสธได้ และไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ สำหรับการเบิกจ่ายประกันสุขภาพ สบส. ได้ทำหนังสือยืนยันไปที่ คปภ.แล้วว่า HI/CI และฮอสพิเทล เป็นสถานพยาบาล ที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจ่ายสิทธิประกันสุขภาพ
ผู้ป่วยโควิดต้องมีอาการแค่ไหนถึงต้องเข้าโรงพยาบาล
อาการโควิดแบ่งเป็นระยะ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยอาการที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้แก่ สีเหลืองและสีแดง ซึ่งจะมีอาการดังนี้
อาการโควิดสีเหลือง
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีเหลือง คือผู้ที่มีอาการเสี่ยงรุนแรง หรือมีโรคร่วม เช่น
- เวียนหัว อ่อนเพลีย ไอแล้วมีอาการเหนื่อย
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- ขับถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป
- อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ
เป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากมีอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยโควิดสีเขียว จึงไม่เหมาะที่จะทำการกักตัวรักษาที่บ้านแบบ HI หรือ CI ได้ และควรเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากแพทย์
อาการโควิดสีแดง
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวโดยเร็ว
- ระบบหายใจมีปัญหารุนแรง ทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอกซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง
- เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลงความอิ่มตัวของเลือด
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา และหายใจเจ็บหน้าอก
- ตอบสนองช้า หรือไม่รู้สึกตัว
อาการของผู้ป่วยโควิดสีแดงจัดว่ามีอาการรุนแรง ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิดที่ห้อง ICU เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเครื่องช่วยหายใจ
คนใกล้ชิดที่พบปะกับผู้ป่วยยืนยันต้องปฏิบัติอย่างไร
เมื่อพบว่าเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือเพื่อนที่เพิ่งพบปะกันเป็นผู้ป่วยยืนยันแล้ว ถือว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัว ต้องปฏิบัติดังนี้
- แจ้งหยุดงาน ไม่เดินทางไปพื้นที่สาธารณะ 14 วัน
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในห้องแอร์ สวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่คลุกคลีกับผู้สูงอายุและเด็ก
- สังเกตอาการตัวเอง วัดไข้ตัวเองทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ต้องรีบพบแพทย์
- ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ในถุงขยะก่อนมัดปากถุงทิ้ง ปิดปากถุงให้สนิท
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารปรุงสุก
- ทำกิจกรรมผ่อนคลาย ลดความเครียด
หากติดเชื้อแล้วพักร่วมกับผู้อื่นในบ้าน หอพัก หรืออื่นๆ ต้องทำอย่างไร
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องกักตัวอยู่ในที่พัก ร่วมกับบุคคลอื่นในครอบครัว หรือหอพัก แจ้งให้กับบุคคลอื่นทราบ เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อต้องจัดส่งอาหาร และของใช้ รวมถึงเตรียมน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อใส่ในถุงขยะก่อนส่งกำจัด เพื่อลดการแพร่เชื้อ
- เตรียมอุปกรณ์ ของใช้ในชีวิตประจำวันให้เพียงพอต่อการกักตัว 14 วัน
- แยกใช้ห้องนอน ห้องน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบาย
- แยกของใช้ให้ชัดเจน ทั้งจานชาม แก้วน้ำ ฯลฯ และอุปกรณ์ทำความสะอาด
- เตรียมอุปกรณ์ชำระร่างกาย แยกเพื่อใช้เฉพาะผู้กักตัว
- แยกการซักผ้า ไม่ซักร่วมกับผู้อื่น
- หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น ทำความสะอาดห้องน้ำเมื่อใช้เสร็จ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- หอพัก คอนโด และสถานที่พักอาศัย ต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ด้วยวิธีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยผู้ทำความสะอาดต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองทุกครั้ง
สถานการณ์ตอนนี้เริ่มกลับมาวิกฤตอีกครั้ง ขอให้คุณพ่อคุณแม่ระวังตัวเองและลูกน้อยให้ดีมากยิ่งขึ้น เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้เตรียมไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ไม่ตกใจและเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงทีนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลวิชัยเวช, กรุงเทพธุรกิจ,ไทยรัฐออนไลน์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ติดโควิด 5 วิธีกักตัวที่บ้าน ดูแลตัวเองและลูกๆ ระหว่างรอเตียง
รู้ก่อนป้องกันได้! ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ เด็กติดโควิดเสียชีวิต คืออะไร?